ที่ดิน สปก. ขายไปแล้ว รับเงินไปแล้ว อ้างว่าเป็น โมฆะ ฟ้องขับไล่คนซื้อที่ดิน สปก. ให้ออกไปจากที่ดิน  จะทำได้ไหม?

โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์ หรือ ทนายโทนี่

https://www.facebook.com/profile.php?id=61570145816740

ตอบ เดิม การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.โดยส่งมอบการครอบครองให้แล้ว สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ (อ้างอิง จาก ฎีกาที่ 2293/2552 ) ต่อมาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ผู้ขายที่ดิน ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558)

 

พระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39  ห้ามไม่ให้ซื้อขาย  หากซื้อขายก็ถือว่าเป็นโมฆะตามมาตรา 150 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

พระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

มาตรา 39 ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิ ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ก าหนดในกฎกระทรวง

 

หากมีการซื้อขาย ก็จะถือว่าเป็นโมฆะตามมาตรา 150 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

“มาตรา 150” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 150 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ “

 

ดังนั้น คนที่ซื้อก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของที่ดินได้  แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงดังกล่าว ที่ดิน สปก.แปลงนั้นก็จะตกไปเป็นของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. และทาง. คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. ก็จะนำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรรายใหม่ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552 กรณีโจทย์-จำเลย ทำสัญญาซื้อ – ขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2558)

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เป็นผู้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2546 แล้ว ท. สละการครอบครองให้จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แม้ก่อนฟ้องโจทก์กับ ท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนเงินให้แก่ ท. 110,000 บาท และ ท. จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ ท. แต่อย่างใด การที่โจทก์กลับมาอ้างเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ท. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท

 

สำหรับประเด็น ที่ดินพิพาทที่มีปัญหา  ก็เป็นเรื่องที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป

#image_title