คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6166/2562

ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ผู้ร้องสอดตกลงทำสัญญาซื้อขายต้นไม้กฤษณาจำนวน 900 ต้น ซึ่งจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว และผู้ร้องสอดชำระค่าต้นไม้กฤษณาให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา

ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่าต้นไม้กฤษณาดังกล่าวไม่เป็นทรัพย์สินที่โจทก์จะบังคับจำนองได้

#ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคแรก จะบัญญัติว่า “ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกหรือขึ้นอยู่” ก็ตาม

แต่หากเมื่อใดผู้ปลูกตัดไม้ยืนต้นออกไปจากที่ดินต้องถือว่านับตั้งแต่นั้นผู้ปลูกมีเจตนาจะให้ไม้ยืนต้นอยู่ติดกับที่ดินเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งอันมีจำกัดเป็นการชั่วคราว ไม้ยืนต้นที่ถูกตัดไปย่อมหมดสภาพการเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146

แม้จะได้ความตามว่าไม้กฤษณาที่ปลูกดังกล่าวเป็นต้นไม้มีอายุหลายปีโดยสภาพเป็นไม้ยืนต้นในที่ดินของจำเลยตั้งแต่ก่อนจำเลยจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

แต่เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายต้นไม้กฤษณาระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลย อันมีสาระสำคัญแห่งข้อตกลงด้วยว่า ให้ผู้ร้องสอดผู้ซื้อตัดต้นไม้กฤษณาในที่ดินและนำออกจากที่ดินจำเลยมีกำหนดเวลา 4 ปี

ต้นไม้กฤษณาที่เกษตรกรปลูกโดยทั่วไปจะมีระยะตั้งแต่เวลาปลูกต้นกล้า จนฉีดสารเร่งและตัดได้ประมาณ 6-7 ปี เมื่อตัดต้นไม้กฤษณาออกไปจากลำต้น ต้นไม้กฤษณาสามารถแตกแขนงรอบๆโคนต้นได้ แต่ไม้กฤษณาเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น เมื่อโดนลมก็จะหักง่าย จึงไม่สามารถปล่อยให้กิ่งแตกแขนงขึ้นมาและใช้ประโยชน์ใดๆได้ เกษตรกรจึงใช้วิธีไถกลบและปลูกต้นกล้าใหม่เท่านั้น

พฤติการณ์แห่งคดีย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดว่า ต้นไม้กฤษณาที่จำเลยปลูกในที่ดินเป็นการปลูกไว้เพียงชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อต้นไม้กฤษณาโตได้ขนาดก็จะตัดโค่นนำแก่นไปสกัดเป็นน้ำหอม ซึ่งบุคคลปกติทั่วไปรวมทั้งโจทย์อาจเล็งเห็นได้

ต้นไม้กฤษณาที่ปลูกลงในที่ดินจึงเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำเลยนำไปจำนองไว้แก่โจทก์

ต่างจากส่วนโคนต้น ซึ่งหากไม่มีการไถกลบไปก็อาจเป็นส่วนควบกับที่ดิน

ดังนี้ เมื่อผู้ร้องสอดตกลงทำสัญญาซื้อขายต้นไม้กฤษณา และชำระเงินแก่จำเลยแล้วดังกล่าวไปข้างต้น กรรมสิทธิ์ในต้นไม้กฤษณาย่อมตกได้แก่ผู้ร้องสอดตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย วันที่ 10 มีนาคม 2557 แล้ว

ผู้ร้องสอดชอบที่จะตัดต้นไม้กฤษณาจากที่พิพาทได้ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนองเอาจากส่วนของผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

__________

ที่มา: คำพิพากษาศาลฎีกา พุทธศักราช 2562 เล่มที่ 10 หน้า 59-62

#ทนายโทนี่ #ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com