ฝ้าเพดาน” เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อบ้านและงานสถาปัตยกรรม อาคารจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดการติดตั้งฝ้าเพดาน โดยประโยชน์ของฝ้าเพดานก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้งานออกมาเรียบร้อย สวยงาม ซ่อนงานระบบต่าง ๆ ไว้เหนือฝ้า ช่วยป้องกันแมลง ฝุ่นต่าง ๆ รวมทั้งควบคุมอุณหภูมิในห้อง

ตามปกติแล้วเราจะแบ่งประเภทฝ้าเพดานเป็น 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ แบ่งตามประเภทการติดตั้ง และแบ่งตามวัสดุที่ใช้ติดตั้ง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักประเภทฝ้าเพดานตามการติดตั้ง ซึ่งเป็นแบบที่นิยมและใช้กันมากที่สุด Home Buyers มาพร้อมกับเกร็ดความรู้ดี ๆ ในเรื่องของประเภทฝ้าเพดาน และข้อดีของแต่ละประเภท

1. ฝ้าเพดานฉาบเรียบ
เริ่มจากฝ้าเพดานแบบแรกที่นิยมใช้กันเพื่อความเรียบร้อย กลมกลืนไปกับการออกแบบ นั่นคือฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบ ฝ้าประเภทนี้มักติดตั้งแบบถาวร ซึ่งวัสดุแผ่นส่วนใหญ่ที่นิยมใช้จะเป็นยิปซั่มและไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย

ติดตั้งฝ้าเพดานฉาบเรียบโดยการยึดวัสดุแผ่นเข้ากับโครงคร่าวอลูมิเนียมที่ติดไว้กับโครงหลังคา จากนั้นช่างจะทำการฉาบเรียบปิดรอยต่อฝ้าด้วยปูน และปิดทับรอยต่อด้วยผ้าด้ายดิบ ขั้นตอนสุดท้ายคือทาสีทับฝ้าเพดานทั้งหมดอีกรอบเพื่อเก็บงาน

หลังจากเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว เราจะเห็นว่าแผ่นฝ้าเรียบเนียนเป็นผืนเดียวกันหมด ไม่เห็นรอยต่อ จึงเรียกฝ้าประเภทนี้ว่าฝ้าฉาบเรียบ
2. ฝ้าเพดานแขวน (ที-บาร์)
ฝ้าเพดานแขวน หรือ T-bar เป็นประเภทฝ้าเพดานที่นิยมใช้ค่อนข้างมาก เนื่องจากติดตั้งสะดวก ราคาถูกเมื่อเทียบกับฝ้าแบบอื่นๆ ดูแลรักษาง่าย สามารถเปิดฝ้าขึ้นไปดูแล ซ่อมแซมงานระบบได้ และข้อสำคัญหากฝ้าชิ้นใดชำรุดก็สามารถเปลี่ยนที่ชำรุดได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมดค่ะ

ฝ้าเพดานแขวนจะทำการติดตั้งโครงคร่าวเป็นรูปตัว T คว่ำ เป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมเท่าๆ กัน เพื่อวางแผ่นฝ้ายิปซั่ม โดยจะมี 2 ขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้ ได้แก่ 60×60 ซม. และ 60×120 ซม.

ฝ้าเพดานชนิดนี้เหมาะสำหรับห้องที่มีขนาดเล็ก อาคารสำนักงาน หรืออาคารที่เน้นการซ่อมบำรุงได้ง่าย ทั้งนี้จะไม่เหมาะกับอาคารสูง ๆ เพราะหากเกิดลมพัดแรงหรือเกิดแผ่นดินไหว อาจทำให้ฝ้าเพดานหลุดลงมาเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานค่ะ หรือถ้าต้องการติดตั้งในพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง ควรเลือกฝ้า T- bar แบบกันชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา
3. ฝ้าหลุม
ฝ้าเล่นระดับหรือฝ้าหลุมเหมาะสำหรับห้องหรืออาคารที่ต้องการความสวยงาม ความหรูหรา เช่น บ้าน รีสอร์ท ห้องประชุม และห้องสำนักงาน เป็นต้น ฝ้าเล่นระดับทำให้พื้นที่ในบริเวณนั้นดูมีมิติ ดึงดูดสายตา และยังทำให้รู้สึกระยะพื้นถึงฝ้าสูงมากขึ้นด้วย

ตามปกติแล้วหากเลือกใช้ฝ้าชนิดนี้ ก็มักจะมีการใช้คิ้วบัวตกแต่งเพิ่มค่ะ หรือถ้าใช้ฝ้าหลุมก็สามารถซ่อนงานระบบ ซ่อนเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งโคมไฟระย้า เพิ่มความสวยงามได้ด้วย

4. ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ
ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ จะคล้าย ๆ กับฝ้าหลุม มีการเว้นพื้นที่ฝ้าเพื่อวางแนวไฟให้สะท้อนจากฝ้ากระทบบริเวณพื้นที่ ที่ต้องการใช้งาน เป็นการเพิ่ม Shade & Lighting สร้างบรรยากาศในห้องให้นุ่มนวล สบายตา และยังเพิ่มความหรูหรา

5. ฝ้าอะคูสติก
ฝ้าอะคูสติกเป็นฝ้าที่มีการดูดซับเสียง ป้องกันเสียงสะท้อนได้ดีมากกว่าฝ้าชนิดอื่น ในปัจจุบันมีฝ้าอะคูสติกให้เลือกใช้หลายแบบ หลายประเภท อาทิ Acoustic Board, M board ฟองน้ำ เป็นต้น ส่วนมากนิยมใช้ในห้องดนตรี ห้องประชุมสัมนา โรงหนัง หรือห้องจัดแสดงต่าง ๆ ที่ต้องการลดการสะท้อนของเสียงเป็นพิเศษ

6. ฝ้าระแนง
ฝ้าระแนงมักนิยมใช้เพื่อการตกแต่ง เพิ่มความสวยงาม หรือใช้สำหรับพรางงานระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซ่อนท่อ สายไฟ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความโปร่งช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก ซ่อมแซมง่าย

ฝ้าระแนงให้ความรู้สึกทันสมัย มีดีไซน์ และหากเลือกใช้ระแนงไม้ยังเพิ่มความอบอุ่นได้ด้วย ฝ้าประเภทนี้จะใช้ในอาคารสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ค่ะ เช่น ล็อบบี้ โถงโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีรถไฟ ฯลฯ

7. ฝ้าติดตั้งพิเศษ
ฝ้าประเภทนี้มีความพิเศษกว่าฝ้าที่กล่าวมาทั้งหมดค่ะ เนื่องจากเป็นฝ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อความสวยงามโดยเฉพาะ ในแต่ละสเปซ แต่ละอาคาร ก็จะมีการออกแบบฝ้าเพดานที่แตกต่างกัน สร้างความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจให้กับพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ มักจะพบบ่อยได้ในงานโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และรีเทลช็อป

ฝ้าชนิดนี้มักจะมีการผสมวัสดุที่แตกต่างกัน เช่น ใช้กระจก อะคริลิก ไม้ ผ้า หรือแม้แต่ผ้าใบ ล้วนขึ้นอยู่กับการออกแบบ ทั้งนี้จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งด้วย เนื่องจากมีความซับซ้อนมากกว่า

ฝ้าเพดาน