การสร้างความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชน
โดย…ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผมเห็นคนที่ถูกเชิญขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชนหลายคน อยู่ในอาการประหม่า บางคนสั่น บางคนพูดเสียงเบาเพราะความไม่มั่นใจหรือเชื่อมั่นในการพูดของตนเอง ในวันนี้เราจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชน

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เราไม่มีความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชนเนื่องมาจากสาเหตุอะไร ผมเคยถามคำถามนี้กับผู้ที่เข้ารับการอบรมการพูดต่อหน้าที่ชุมชนโดยที่กระผมเป็นวิทยากร คำตอบที่มักจะได้รับก็คือ การไม่รู้จะพูดอะไรเนื่องจากไม่มีข้อมูลหรือไม่ได้เตรียมการพูดมา บางคนบอกว่า ไม่คุ้นเคยผู้ฟัง กลัวผู้ฟังหรือว่าผู้ฟังที่มานั่งฟังอาจมีความรู้มากกว่าตน บางคนบอกว่า ไม่กล้าเนื่องจากไม่ได้ขึ้นฝึกพูดบ่อยๆ บางคนบอกว่า กลัวว่าจะพูดได้ไม่ดี ฯลฯ

สรุปแล้วคือผู้อบรมการพูดต่อหน้าที่ชุมชนหลายท่าน อ้างสิ่งต่างๆนานา หรือคิดไปต่างๆนานา แท้ที่จริงแล้ว เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชนได้ โดยการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือ

1.บางคนอ้างว่าไม่ได้เตรียมตัวมาหรือไม่รู้จะพูดอะไร เราก็ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ เราต้องเตรียมการพูดให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลำดับเรื่อง การใช้ถ้อยคำ การหาข้อมูล การวิเคราะห์ผู้ฟังว่าเป็นกลุ่มไหนมาฟัง เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นวัยทำงานหรือเป็นวัยชรา เพื่อเราจะเลือกใช้ภาษาถ้อยคำให้ถูกกับวัยของผู้ฟังหรือ ตัวอย่างของเรื่องให้สอดคล้องกับวัยของผู้ฟัง รวมไปถึงเวลาในการพูด ถ้าพูดช่วงเช้า กับช่วงบ่าย ก็ต้องใช้กลยุทธ์ในการพูดที่แตกต่างกัน เนื่องจากช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่นักพูดมักพูดว่า เป็นช่วง “ ปราบเซียน ” จึงต้องพูดให้มีความตื่นเต้น มีชีวิตชีวา เนื่องจากคนกินอาหารอิ่ม ง่วง ถ้าขืนไปพูดเสียงเบา ไม่เร้าใจ ผู้ฟังก็อาจหลับกันหมด
2.บางคนอ้างว่าไม่คุ้นเคยผู้ฟัง กลัวผู้ฟังหรือว่าผู้ฟังที่มานั่งฟังอาจมีความรู้มากกว่าตน เมื่อรู้เช่นนี้ ว่าเราไม่คุ้นเคยผู้ฟัง กลัวผู้ฟัง กระผมขอแนะนำว่า ผู้พูดควรไปก่อนเวลาสักเล็กน้อย ไปทำไม ไปเพื่อทำความรู้จักกับผู้ฟัง ชวนผู้ฟังพูดคุยบ้าง ทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคย ก่อนที่จะบรรยายเพื่อให้เกิดการลดอาการประหม่าเนื่องจากการไม่คุ้นเคยหรือกลัวผู้ฟัง สำหรับบางคนกลัวว่าผู้ฟังที่มานั่งฟังอาจมีความรู้มากกว่าตน เราก็ควรคิดในแง่ดีว่า สิ่งที่เราบรรยาย ผู้ฟังอาจไม่รู้ เพราะความรู้เรื่องหนึ่งๆ มันมีหลายแง่มุม ตอนนี้เราเป็นผู้พูด เรามาพูดแง่มุมของเรา ถ้าผู้ฟังมีความรู้อะไรก็ช่วยเติมเต็มได้

3.บางคนอ้างว่า ไม่กล้าเนื่องจากไม่ได้ขึ้นฝึกพูดบ่อยๆ บางคนบอกว่า กลัวว่าจะพูดได้ไม่ดี สำหรับข้อนี้ง่ายมาก เมื่อเรารู้ว่าเราไม่กล้าเนื่องจากไม่ได้ขึ้นฝึกพูดบ่อยๆ เราก็ควรทำสิ่งที่ตรงข้ามคือ เราต้องหาโอกาสในการฝึกการพูดบ่อยๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเองในการพูดในที่ชุมชน

ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชน มีความสำคัญมาก เราจะเห็นได้ว่า บางคนมีความรู้มาก แต่ไม่กล้าพูดหรือพูดด้วยความไม่มั่นใจ ก็ทำให้ผู้ฟังขาดความศรัทธา ตรงกันข้ามกับอีกคนหนึ่งที่มีองค์ความรู้น้อยกว่า แต่มีความมั่นใจในตนเอง มีความเชื่อมั่นในการพูดในที่ชุมชน ทำให้คนๆนั้น เป็นที่ยอมรับและมีคนศรัทธาในคำพูดหรือการพูดของเขา

ฉะนั้น นักพูดที่ดีต้องฝึกความกล้า โดยคิดว่า ความกลัวมักทำให้เสื่อม หรือ ถ้ากลัวสิ่งไหนให้เข้าไปหาสิ่งนั้นแล้วจะทำให้หายกลัว (ถ้ากลัวการพูดต่อหน้าที่ชุมชนท่านก็ต้องเข้าหาแล้วท่านจะหายกลัวในที่สุด)ท้ายนี้ขอฝากคำกลอนที่มีผู้แต่งซึ่งแต่งได้ไพเราะมากซึ่งกระผมไม่ทราบว่าใครแต่งจึงขออนุญาตนำมาปิดท้ายครับ

พูดทั้งที ต้องให้มี ความเชื่อมั่น
อย่ามัวสั่น หวั่นผวา น่าสงสาร
จงเตรียมกาย เตรียมใจ ให้เบิกบาน
ความกล้าหาญ บันดาลให้ พูดได้ดี

#image_title