ค้ำประกัน

ค้ำประกัน

ค้ำประกัน
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน หรือเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินสำนวนไทยโบราณ สองประโยคข้างต้นดังกล่าว และต้องยอมรับว่าสองประโยคข้างต้นมีความเป็นจริงอยู่มาก ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของการค้ำประกันกัน มีคนเคยถามกระผมว่า ค้ำประกันคืออะไร การค้ำประกันคือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอก เรียกว่า “ ผู้ค้ำประกัน ” ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้

ฉนั้นการค้ำประกันตนเองเพื่อชำระหนี้ของตนเองไม่สามารถทำได้ ต้องให้บุคคลภายนอกค้ำประกัน เพราะ ลูกหนี้ย่อมค้ำประกันตนเองอยู่แล้ว คำว่าบุคคลภายนอกในที่นี้รวมไปถึง นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท สมาคม มูลนิธิ (ซึ่งต้องดูวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนด้วยว่า มีอำนาจในการทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่) ส่วนบุคคลธรรมดาที่สามารถค้ำประกันได้จะเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
ฉะนั้นเราจะเห็นนักกฏหมายส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมค้ำประกันให้ใครง่ายๆ ถ้าหากจะให้ค้ำประกันใครขอค้ำประกันเป็นเงินสดยังจะดีกว่า เพราะหากท่านได้ทำสัญญาค้ำประกันให้กับใคร ท่านจะบอกเลิกไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้เขาไว้ใจคนค้ำประกัน เขาถึงยอมให้เงินแก่ลูกหนี้ กฏหมายจึงไม่ยอมให้คนค้ำประกันบอกเลิกสัญญา หากกฏหมายยอมให้บอกเลิกสัญญาได้ความเสียหายก็จะตกแก่เจ้าหนี้นั้นเอง

ฏีกา 980/2513 หากเจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกัน โดยไม่เรียกร้องจากลูกหนี้ก่อน ถือว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องจากจำเลยผู้ค้ำประกันได้

ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงถือว่าเป็นลูกหนี้ลำดับสองหรือชั้นสอง ถ้าหากเจ้าหนี้เรียกผู้ค้ำประกันชำระหนี้โดยไม่ได้ไปบังคับเอาหนี้กับลูกหนี้ลำดับหนึ่งหรือชั้นหนึ่งก่อน ผู้ค้ำประกันสามารถที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับกับลูกหนี้ก่อน แต่เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบ ผู้ค้ำประกันจึงจะต้องชำระหนี้แทน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องดูรายละเอียดของสัญญาค้ำประกันด้วย ถ้าหากในสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแทนลูกหนี้ในทันทีที่ได้รับการทวงถามโดยมิพักต้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน คนใดคนหนึ่งชำระจนสิ้นเชิงสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ตามฏีกา3553/2533

สำหรับการระงับของสัญญาค้ำประกันสามารถระงับได้โดย เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ เมื่อผู้ค้ำประกันบอกเลิกการค้ำประกัน ทั้งนี้ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อระยะเวลาในการค้ำประกันสิ้นสุดลง และเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน

ถามว่าแล้วอย่างนี้ การเป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิจะหลุดหรือไม่เวลาถูกฟ้องร้อง บางคดีหลุดครับ แต่มีน้อยมาก หลุดเพราะ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 “ การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวในอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์ไปยังเจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ ”
กิจการต่อเนื่องหลายคราวที่ผู้ค้ำประกันสามารถบอกเลิกได้ เช่น สัญญาการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้าง ที่ไม่มีกำหนดเวลา , สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี(OD) ที่กำหนดให้ลูกค้าเบิกเงินเป็นคราวๆ (ฏีกา 500/2507,1945/2537)
ดังนั้นหากท่านถูกฟ้องดำเนินคดีในฐานค้ำประกัน ท่านลองไปศึกษา มาตรา 699 ดูครับ อาจเป็นทางออกของท่านได้อีกทางหนึ่ง “ สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ” ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ก็อาจพลาดและพลั้งได้เช่นกันครับ

#image_title

กฎหมายธุรกิจ

กฎหมายธุรกิจ

กฏหมายธุรกิจ
โดย…ทนาย สุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
ถ้าพูดถึงกฎหมายธุรกิจแล้ว มักจะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะ บรรพ 3 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญถึง 23 ลักษณะ คือ ลักษณะ 1 ซื้อขาย ลักษณะ 2 แลกเปลี่ยน ลักษณะ 3 ให้ ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ลักษณะ 7 จ้างทำของ ลักษณะ 8 รับขน ลักษณะ 9 ยืม ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์ ลักษณะ 11 ค้ำประกัน ลักษณะ 12 จำนอง ลักษณะ 13 จำนำ ลักษณะ 14 เก็บของในคลังสินค้า ลักษณะ 15 ตัวแทน ลักษณะ 16 นายหน้า ลักษณะ 17 ประนีประนอม ลักษณะ 18 การพนันและขันต่อ ลักษณะ 19 บัญชีเดินสะพัด ลักษณะ 20 ประกันภัย ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท ลักษณะ 23 สมาคม

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายธุรกิจหรือเอกเทศสัญญาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ และกระผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับกฎหมายเอกเทศสัญญาไม่มากก็น้อย เช่น เรื่องของการค้ำประกัน จำนองและจำนำ การค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ระบุว่า อันว่าค้ำประกันนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ฉะนั้นเรื่องของการค้ำประกันเป็นเรื่องที่ต้องควรศึกษาและทำความเข้าใจเพราะบางคนต้องใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นคนก่อหนี้ แต่ต้องใช้หนี้แทนผู้อื่น ซึ่งการค้ำประกันมี 2 ชนิด คือ 1.การประกันด้วยบุคคล และ 2.การประกันด้วยทรัพย์สิน

1.การประกันด้วยบุคคล คือ การที่บุคคลหนึ่งเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว เขาจะเป็นผู้ชำระแทนให้ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นประกันให้แก่เจ้าหนี้ก็คือ ตัวบุคคลผู้นั้นเอง(ธนวัฒน์ เนติโพธิ์ 2539: 386)

2.การประกันด้วยทรัพย์สิน คือ การที่เจ้าหนี้ได้รับทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งทรัพย์ที่เป็นประกันนี้อาจเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เอง หรือเป็นทรัพย์ของบุคคลภายนอกก็ได้ ซึ่งการประกันด้วยทรัพย์มี 2 ประการ คือ 1.การจำนอง 2.การจำนำ (ธนวัฒน์ เนติโพธิ์ 2539: 386)

ส่วนการจำนอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 ระบุว่า คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

สำหรับทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้จำนองกันได้คือ อสังหาริมทรัพย์(ที่ดินและบ้านเรือน) , เรือกำปั่น ,แพ , สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย )

ส่วนการจำนำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

สำหรับบทความข้างต้นถามว่าทำไมต้องอ้าง ประมวลกฎหมาย มาตราต่างๆ เพราะ กฎหมายเป็นข้อบังคับ ดังนั้นผู้ศึกษากฎหมายจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายมาตราต่างๆ มาให้เข้าใจ อีกทั้งคำบางคำหรือถ้อยคำบางคำ เราอ่านแล้วฟังแล้ว อาจไม่เข้าใจซึ่งต้องอาศัยการตีความตามกฎหมาย

ดังนั้นการศึกษากฏหมายเอกเทศสัญญาจึงมีความสำคัญมากในการดำรงชีพและการประกอบธุรกิจ เพราะจะทำให้เราไม่เสียเปรียบผู้อื่น และที่สำคัญคือเมื่อเรารู้กฎหมายแล้วเราก็ไม่ควรนำความรู้กฎหมายไปเอาเปรียบผู้อื่นด้วย

#image_title

เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร

เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร

เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร

โดย…ทนาย สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)

www.drsuthichai.com

การกระทำความผิด โดยเฉพาะการกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 มี 5 สถาน คือ 1.ประหารชีวิต 2.จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ และ 5.ริบทรัพย์สิน หมายเหตุ โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และ ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษ ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

แต่ถ้าท่านหรือญาติของท่านเป็นคนหนึ่งที่ถูกคดีฟ้องร้องถึงขั้นจำคุก ท่านสามารถรอดคุกรอดตะรางได้ โดยมีปัจจัยที่ทำให้ท่านรอดคุกรอดตะรางดังนี้

– หากว่าท่านเป็นจำเลย ถ้าหากพยานโจทก์เบิกความไม่ดีหรือผิดพลาด ท่านอาจรอดคุกรอดตะรางได้ กระผม

ขออธิบายเพิ่มเติม ในการทำคดีอาญา จะมี 2 ฝ่ายเสมอ คือมีโจทก์เป็นผู้ฟ้อง และมีจำเลยคือผู้ถูกฟ้อง และการสืบพยานก็มักจะมีพยาน 2 ฝ่าย คือ พยานโจทก์และพยานจำเลย โดยที่พยานโจทก์จะเบิกความเพื่อกล่าวหาว่าจำเลยมีความผิดและพยานจำเลยก็มักจะเบิกความว่าจำเลยไม่ผิด ดังนั้น พยานโจทก์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้จำเลยติดคุกได้ หากว่าพยานโจทก์เบิกความไม่ดีหรือผิดพลาด จำเลยก็มีสิทธิหลุดได้ อีกทั้งแนวทางการต่อสู้ของทนายความจำเลยก็มีความสำคัญ กล่าวคือหากทนายความจำเลยสามารถถามค้านพยานโจทก์ เพื่อให้พยานโจทก์ตอบให้เกิดความสงสัยได้ยิ่งมากยิ่งดีจะทำให้ศาลมีโอกาสยกฟ้องได้สูงขึ้น

– เด็กมีสิทธิรอดคุกรอดตะรางหรือไม่ มีครับ ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษพนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการ คุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

หมายเหตุ : มาตรา 73 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551

มาตรา 74 เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้

(2) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้อง ไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น

– ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้น ไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว

(3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น

(4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแลอบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อ ดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ

(5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

– คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าใน ขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดย ศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือ บุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอนหรือ เจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปก็ให้ ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจ ใน มาตรานี้

หมายเหตุ : มาตรา 74 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551

สำหรับ เรามีโอกาสรอดคุกรอดตะรางได้อย่างไร กระผมจะทยอยเขียนเป็นตอนๆ เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่เราสามารถรอดคุกรอดตะรางซึ่งสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น คนบ้ามีสิทธิรอดคุกรอดตะรางได้ , ครอบครัวสามีภรรยาพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ทำผิดอาญาต่อกันสามารถรอดคุกรอดตาราง(ในบางกรณีครับ) ฯลฯ

 

#image_title

กฎหมายกับหนี้สิน

กฎหมายกับหนี้สิน

กฎหมายกับหนี้สิน
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com
การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ     มีคนกล่าวว่าคนเราถ้าเสียเรื่องเงินจะทำให้เรื่องอื่นเสียไปด้วย
ในวันนี้เราจะมาพูดเรื่องของหนี้สิน ซึ่งเรื่องของการเป็นหนี้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย จนมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีหนี้ก็ไม่มีหน้า เพราะบางคนหน้าใหญ่ชอบเลี้ยงเพื่อนฝูง จนต้องก่อหนี้หรือนำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมากในเรื่องของการบริหารเงิน คนไทยก่อหนี้กันมากในปัจจุบันทำให้วินัยในการใช้เงินของคนไทย เรามีปัญหามาก

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนี้และวิธีแก้ไขปัญหา

เคยมีคนตั้งคำถามกับผมว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ต่างคนต่างทำธุรกิจและมีหนี้สิน เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว หนี้สินนั้นจะเป็นหนี้สินส่วนตัวหรือเป็นหนี้สินร่วมกัน

ผมขอตอบว่า หากสามีภรรยาคู่นี้ มีหนี้สินอยู่แล้ว แล้วจึงแต่งงานกันและจดทะเบียนสมรส หนี้สินนั้นเป็นหนี้สินส่วนตัวครับ    แต่หากเป็นหนี้ในระหว่างสมรส โดยหลักแล้ว คู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อหนี้ขึ้น หนี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายนั้น แต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบกันเองเป็นการส่วนตัว เว้นแต่จะเป็นหนี้ร่วมกันหรือที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหนี้ร่วมกันแล้วจึงจะรับผิดชอบร่วมกัน
เช่นจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทำธุรกิจร่วมกันโดยกู้หนี้มา ถือว่า ต้องเป็นหนี้สินรวมต้องใช้หนี้ร่วมกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ซ่อมแซมบ้าน ซื้อรถ นำเงินจากการกู้หนี้มาใช้รักษาพยาบาลอีกฝ่ายหนึ่ง การอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว การนำเงินไปลงทุนร่วมกัน หรือ การที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปกู้เงินแล้วอีกฝ่ายหนึ่งทำสัญญายินยอม ก็ถือว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันจึงถือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับรู้ การก่อหนี้อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว อาจจะรับรู้โดยการเซ็นยินยอมคู่สมรส หรือเซ็นพยานหรือรับรู้โดยปากเปล่าก็ถือว่าทราบแล้ว จึงต้องรับหนี้ร่วมกัน

ดังนั้นถ้าคิดจะกู้หนี้หรือนำเงินในอนาคตมาใช้ต้องคิดใคร่ครวญให้ดีครับ จากประสบการณ์ของผมเคยทำงานธนาคารฯ แห่งหนึ่งโดยอยู่ฝ่ายสินเชื่อ อีกทั้งปัจจุบันกระผมเป็นทนายความจึงได้มีโอกาสเห็นการฟ้องร้องคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของหนี้สินต่างๆ ในโอกาสนี้อย่างแนะนำเรื่องของการบริหารหนี้กันซักเล็กน้อยครับ หากคุณเป็นหนี้อยู่แล้ว คุณไม่ควรเป็นหนี้เพิ่มหรือหยุดก่อหนี้เพิ่มครับ เช่น

การยกเลิกการใช้บริการบัตรเครดิต ความจริงโดยส่วนตัวกระผมคิดว่าทุกสิ่งในโลกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การใช้บัตรเครดิตก็ถือว่ามีข้อดีทำให้เกิดความสะดวกสบาย แต่ถ้าหากเราไม่มีวินัยในการใช้เงิน อยากได้สิ่งต่างๆ ตลอดเวลา เราก็ควรยกเลิกดีกว่าครับ เพราะถ้าฝืนมีอาจจะทำให้เป็นหนี้สินมากขึ้นก็ได้

ที่สำคัญควรทำบัญชีครัวเรือน(บัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองและครอบครัว) อีกทั้งควรแยกบัญชีหนี้สินต่างๆ ควรใช้หนี้เจ้าหนี้ที่เสียดอกเบี้ยแพงๆ ก่อน หากเป็นไปได้ควรเจรจาต่อรองเจ้าหนี้หากเราจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย สามารถลดเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้ได้ไหม ควรประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลง ผมหวังว่าขอแนะนำต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ท่านลดการเป็นหนี้ลงได้บ้าง

ความจริงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรานี้มีมากมาย ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือคนเรานี้เองแหละครับ กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในแก้ปัญหาและลดปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ เราจะเห็นปัญหาเรื่องหนี้สินเกิดขึ้นตามหน้าหนึ่งในสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น การทวงหนี้โหด การฆ่าเจ้าหนี้ การลักขโมยของหรือการเล่นการพนันเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ฯลฯ ดังนั้นปัญหาจะลดน้อยลงถ้าหากพวกเรามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความอยากเพื่อลดการก่อหนี้สินของตนเองและครอบครัว ก็เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้สินไปได้ไม่มากก็น้อย

#image_title

คนที่ใช่คือคนที่รักเราได้ทุกเวอร์ชั่นและเขาคือคนที่เราจะอยู่เคียงข้างกันไปตลอดชีวิต อย่าได้เสียใจหรือกังวลกับการปล่อยมือจากคนที่ไม่ใช่เพราะมันคือการให้โอกาสตัวเองได้พบกับคนที่ใช่ในอนาคตในบางครั้งเราอาจจะต้องเจ็บปวดจากคนที่ไม่ใช่ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจถึงความหมาย ความรู้สึก ของคนที่ใช่  จงอย่าได้กลัวมัน เพราะความรักที่แท้จริงจะมาในเวลาที่เหมาะสมดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์อาจารย์โทนี่www.drsuthichai.com

คนที่ใช่คือคนที่รักเราได้ทุกเวอร์ชั่นและเขาคือคนที่เราจะอยู่เคียงข้างกันไปตลอดชีวิต อย่าได้เสียใจหรือกังวลกับการปล่อยมือจากคนที่ไม่ใช่เพราะมันคือการให้โอกาสตัวเองได้พบกับคนที่ใช่ในอนาคตในบางครั้งเราอาจจะต้องเจ็บปวดจากคนที่ไม่ใช่ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจถึงความหมาย ความรู้สึก ของคนที่ใช่ จงอย่าได้กลัวมัน เพราะความรักที่แท้จริงจะมาในเวลาที่เหมาะสมดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์อาจารย์โทนี่www.drsuthichai.com

คนที่ใช่
คือคนที่รักเราได้ทุกเวอร์ชั่น
และเขาคือคนที่เราจะอยู่เคียงข้างกันไปตลอดชีวิต

อย่าได้เสียใจหรือกังวลกับการปล่อยมือจากคนที่ไม่ใช่
เพราะมันคือการให้โอกาสตัวเองได้พบกับคนที่ใช่ในอนาคต

ในบางครั้งเราอาจจะต้องเจ็บปวดจากคนที่ไม่ใช่ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจถึงความหมาย ความรู้สึก ของคนที่ใช่  จงอย่าได้กลัวมัน
เพราะความรักที่แท้จริงจะมาในเวลาที่เหมาะสม
ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์โทนี่
www.drsuthichai.com

 

#image_title

การพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตนเอง

การพัฒนาศักยภาพตนเอง

โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

 

การพัฒนาศักยภาพของตนเองมีความสำคัญมากกับความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและ หน้าที่การทำงาน คนที่ต้องการประสบความสำเร็จควรจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งคงต้องมีการพัฒนากันหลายๆ ด้าน เช่น

1.การอ่านหนังสือ คนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ต้องเป็นคนที่ชอบการอ่าน รักการอ่าน การสร้างนิสัยรักการอ่าน เราควรฝึกอ่านหนังสือในแนวที่เราชอบหรือรักก่อน แล้วจึงขยายไปอ่านหนังสือในแนวต่างๆ สำหรับการอ่านเพื่ออาชีพ เราควรหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเรา อ่านให้มากที่สุด อย่างน้อยเดือนละ 3-5 เล่ม ต่อเดือน และควรหาวารสารนิตยสารเกี่ยวกับอาชีพที่เราทำ  อ่านเพื่อหาความก้าวหน้า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงอาชีพนั้น

2.การเข้าฟังสัมมนาดีๆ การอบรมดีๆ ถือว่าเป็นทางลัดในการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ เพราะวิทยากรหรืออาจารย์มักมีประสบการณ์หรือมีเทคนิคต่างๆ ในการสัมมนาหรือการอบรม ทำให้เราสามารถนำเทคนิคต่างๆ เหล่านั้น มาปรับใช้ ประยุกต์ใช้ได้ด้วย

3.การฟังเทปหรือCD วิชาการในรถ เมื่อมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในที่ต่างๆหรือไปยังสถานที่ต่างๆ เท่าที่มีเวลาว่างหรือโอกาส เราควรใช้เวลาว่างนั้นๆ ในขณะขับรถโดยการเปิดฟังเทปหรือCD วิชาการ ฟัง

4.หาทางเข้าสังคมหรือการสร้างเครือข่ายในอาชีพ หรือในงานอดิเรกที่เราสนใจ เช่น สมาคม สโมสร ชมรม ( สมาคมฝึกพูด , สโมสรนักเขียน , ชมรมกีฬาต่างๆ) เพื่อหาเพื่อนหรือเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน

5.การดูแบบอย่าง การหาแบบอย่าง การดูต้นแบบ จะทำให้เราเกิดการลอกเลียนแบบ คนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มักมีต้นแบบเสมอ เราจะสังเกตเห็นว่า บางคนตอนเด็กๆ อยากเป็นนักร้องแบบนักร้องคนโน้นคนนี้ จึงเริ่มต้นฝึกร้องเพลงหรือบางคนอยากชกมวยเก่งแบบเขาทราย เขาจึงเอาหนังสือประวัติของเขาทรายมาอ่าน แล้วเขาก็จะมีกำลังใจในการฝึกฝน อดทนในการซ้อมชกมวย ฯลฯ

6.หาเวลาว่างให้กับตนเอง การใช้ชีวิตของคนเราในภาวะปัจจุบันเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทำให้ทุกๆคนต้องแข่งขันกันเกือบทุกๆด้าน บางคนยุ่งวุ่นวายมากจนไม่มีเวลาให้ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตนเอง คนที่ประสบความสำเร็จมักจะต้องจัดเวลาให้แก่ตนเอง เพื่อใช้ในการคิดหรือเพื่อใช้เวลาสำหรับการพักผ่อน

7.ฝึกจดบันทึกส่วนตัว เกี่ยวกับความสำเร็จ ไอเดียใหม่ๆ การใช้ชีวิตประจำวัน การจดสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่ลืม หรือ สามารถนำเอาไอเดียเหล่านั้นมาใช้เพื่อสร้างเป็นธุรกิจหรือการทำงานของเราได้ อีกทั้งท่านสามารถรวบรวมเป็นหนังสือโดยการรวมเล่มขายได้อีกด้วย

8.ต้องฝึกปฏิบัติหรือพัฒนาตนเองตลอดเวลา จะมีประโยชน์อันใด หากว่าเราอ่านหนังสือ เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการสัมมนา ฟังเทปหรือCD วิชาการ ถ้าเราฟังแบบสนุกหรือผ่านๆ ไป แต่ไม่นำมาปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเราเอง และไม่เกิดการพัฒนา ชีวิตของเราก็จะคงเดิม ไม่ก้าวหน้า

เช่น เรียนรู้เทคนิคทางด้านการพูดแต่ไม่นำเอาเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ หรือไปอบรมเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองแต่ไม่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของ การแต่งกาย เรื่องของท่าทางในการเดินการนั่ง หรือ ฟังเทปหรือCD เรื่องการบริหารเวลาแต่ไม่มีความจริงจังในการทำแบบฝึกหัดที่วิทยากรบรรยาย ฯลฯ

ฉะนั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองหรือพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างแท้จริง เมื่อได้อ่าน เมื่อได้ฟังสิ่งใดแล้วเกิดประโยชน์กับตนเอง แล้วคิดว่าเราน่าจะพัฒนาสิ่งนี้ ก็ขอให้รีบนำสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติ ก็จะทำให้ตนเองเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

คนเรามักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่คนเราจะเจริญก้าวหน้าหรือพัฒนาได้ก็เพราะการเปลี่ยนแปลง

#image_title