by drsuthichai | Nov 21, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เทคนิคการจัดการเวลา
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
คนเรามีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน 365 วันต่อ 1 ปี แต่คนที่มีประสิทธิภาพมักจะสร้างผลงานหรือมีผลงานออกมามากกว่าคนที่ไม่มี ประสิทธิภาพ อาจจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลงานออกมาแตกต่างกัน เช่น เรื่องของสติปัญญา เรื่องความรู้ความสามารถ เรื่องของประสบการณ์ และเรื่องของการบริหารเวลา
การบริหารเวลา ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่การจะบริหารเวลาให้ได้ผลดี การวางแผนถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนเป็นจำนวนมากมักไม่ชอบวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องการดำเนินชีวิต และการวางแผนเรื่องของการใช้เวลา การวางแผนการใช้เวลาจะทำให้เราประหยัดเวลาไปได้มาก ซึ่งการวางแผนการใช้เวลามีดังนี้
1.สร้างเป้าหมายประจำปี ประจำเดือน ประจำสัปดาห์และประจำวัน การมีเป้าหมายจะทำให้เรารู้ทิศทางที่เราต้องการจะเดินหรือมุ่งไป ตัวอย่าง อาชีพนักขาย เราควรกำหนดเป้าหมายเป็นยอดขายว่าปีนี้เราต้องการยอดขายเท่าไร เมื่อทราบเป้าหมายประจำปีแล้วจึง เฉลี่ยเป็นรายเดือน รายสัปดาห์และรายวัน ต่อไป เช่น เป้าหมายรายปี เท่ากับยอดขาย 12,000,000 บาท เป้าหมายรายเดือนเท่ากับ 12,000,000 บาทหารด้วย 12 เดือน เท่ากับ 1,000,000 บาท เป้าหมายรายวัน ก็นำเอา 1,000,000 บาท หารด้วย 30 วัน
2.ใช้เวลา 30 นาทีในการวางแผนการทำงานในแต่ละสัปดาห์และใช้เวลา 15 นาทีในการวางแผนการทำงานในแต่ละวัน การใช้เวลาเพียง 15-30 นาที ในการวางแผนงานเป็นรายสัปดาห์และการวางแผนเป็นรายวันจะทำให้ท่านประหยัดเวลา ได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะจากงานวิจัยพบว่า การวางแผนเพียงแค่ 8 นาทีต่อวัน จะทำให้เราประหยัดเวลาในการทำงานถึงวันละ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว
3.สร้างระบบหรือเครื่องมือในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น สร้างตารางการทำงาน , การใช้ไดอารี่ การใช้สมุดพก ฯลฯ ทั้งนี้การสร้างระบบหรือเครื่องมือในการทำงานของแต่ละท่านอาจไม่เหมือนกัน ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับลักษณะของการทำงาน นิสัย พฤติกรรมของแต่ละบุคคล
4.อย่าเปิดไปรษณีย์ที่ไม่สำคัญหรือหากเป็นงานที่ไม่สำคัญมากนัก ก็ขอให้ผู้อื่นทำแทน การเปิดจดหมาย การไปฝากเงินธนาคาร การไปส่งของยังสถานีต่างๆ อาจจะทำให้ท่านเสียเวลา หากต้องการมีเวลาในการทำงานมากขึ้น สิ่งที่ไม่สำคัญหรืองานที่ไม่สำคัญควรให้ผู้อื่นไปทำกิจกรรมนั้นแทน
5.จัดการงานด้านเอกสารทีละเรื่อง ไม่ควรทำทีละ 2-3 อย่าง และไม่ควรสะสมงานที่ทำไม่เสร็จเป็นดินพอกหางหมู การทำงานทีละ 2-3 อย่างจะทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงาน หากท่านต้องการทำงานให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งมีประสิทธิภาพ ท่านควรทำงานทีละอย่าง จนเสร็จหมดทุกอย่างไม่ควรทำงานให้ค้างไว้หรือสะสมไว้มากๆ จนทำไม่ไหว
- ขนงานบางชิ้นที่สามารถทำได้หรือหนังสือที่ต้องการอ่าน ไปทำหรือไปอ่านด้วย เช่น เมื่อเลิกงานทำไม่เสร็จท่านสามารถขนงานบางชิ้นที่สามารถทำได้หรือเร่งด่วนไป ทำที่บ้าน หรือหนังสือที่ต้องการอ่านไปอ่านระหว่างการรอรถโดยสารประจำทาง หรือ ระหว่างรอเครื่องบินที่สนามบิน
ดังนั้น การวางแผนสำหรับประหยัดเวลาจึงมีประโยชน์และมีความสำคัญ เมื่อท่านมีการวางแผนท่านจะประหยัดเวลาได้มาก การทำงานของท่านจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านจะมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ท่านจะเหลือเวลาในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น จงสร้างเป้าหมาย จงวางแผนการทำงานในแต่ละวัน จงสร้างระบบหรือเครื่องมือ จงหาผู้ช่วยช่วยทำงานที่ไม่มีความสำคัญ จงทำงานทีละเรื่อง และจงขนงานบางชิ้นหรือหนังสือไปอ่านยังสถานที่ต่างๆ หากท่านลองนำวิธีดังกล่าวไปปฏิบัติกระผมเชื่อว่าเวลาในชีวิตของท่านจะมี เวลามากขึ้นกว่าเก่าอย่างแน่นอน

#image_title
by drsuthichai | Nov 21, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
การทำงานในหน่วยงานหรือองค์กร มักจะเกิดปัญหาในการทำงานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน เรื่องของระบบการบริหาร เรื่องของงบประมาณหรือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ฯลฯ การแก้ไขปัญหาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการทำงาน หากว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาในการทำงาน ท่านลองทำตามคำแนะนำเบื้องต้นนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีดังนี้
1.วิเคราะห์ปัญหา แยกแยะและทำความเข้าใจปัญหา หากว่าท่านมีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน ท่านลองวิเคราะห์ปัญหาว่าปัญหาที่ท่านเจอมีทางออกอย่างไร ท่านมีวิธีใดในการแก้ไขปัญหา ปัญหานั้นใหญ่แค่ไหน ปัญหาที่เจอมันจะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานหรือตัวท่านเองมากน้อยแค่ไหน ขอให้ท่านลองคิดไตร่ตรองพิจารณา แล้วควรเขียนใส่ในกระดาษหรืออาจจะวิเคราะห์โดยใช้แผนที่ความคิด(Mind Map) เป็นต้น
2.รวบรวมข้อมูลมาให้มากที่สุด ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจแก้ปัญหาหรือตัดสินใจใดๆ ลงไป ท่านควรแสวงหาข้อมูลมาให้มากที่สุด เพราะการมีข้อมูลจะทำให้เราเกิดการตัดสินใจได้อย่างรอบด้านและตัดสินใจได้ดี ยิ่งขึ้น
3.การหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาไว้หลายๆทาง จะทำให้ท่านตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านอาจจะขอคำแนะนำ ขอคำปรึกษา จากผู้มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญ แล้วจงวิเคราะห์ว่าทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือตรงกับความต้องการ มากที่สุด ด้วยตนเองโดยเรียงลำดับจากวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด
4.ตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์นั้นๆ เพราะวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาหนึ่งอาจไม่ดีสำหรับการแก้ไข ปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก สภาพของปัญหาที่ต่างแตกกัน เช่น เรื่องของพื้นที่ , เรื่องของงบประมาณ , เรื่องของเงื่อนไขบางอย่าง ฯลฯ ดังนั้นคุณอาจจะตัดสินใจเลือกวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดลำดับที่ หนึ่ง ตามรายละเอียดในข้อที่ 3 แต่ถ้าวิธีการที่หนึ่งมีปัญหาไม่สามารถนำไปใช้ได้หรือใช้แก้ไขปัญหาไม่ได้ คุณอาจมีวิธีที่สองสำรองไว้ใช้
5.นำวิธีการที่เลือกไปใช้โดยมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีการกำหนดรายละเอียด ออกแบบเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน แล้วจึงลงมือทำทันที
6.มีการประเมินผล ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด มีการปรับปรุงแผนที่วางไว้ให้เข้ากับเหตุการณ์ หากเกิดความขัดข้อง กล่าวคือ วิธีการที่หนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ให้นำเอาแผนสำรองคือวิธีการที่สองมาประยุกต์ใช้ต่อไป แต่หากวิธีการที่หนึ่งแก้ไขปัญหาได้ประสบความสำเร็จ ก็ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย
จากข้อความข้างต้น ท่านจะเห็นได้ว่าหลักการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จะทำให้ท่านมีการตัดสินใจได้อย่างดีขึ้น มีการมองปัญหาอย่างเป็นระบบขึ้น และมีหลักการในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมบางท่านอาจจะแก้ไขปัญหาแบบไม่มีหลักการ ไม่มีการวิเคราะห์ปัญหา แยกแยะและทำความเข้าใจปัญหา ไม่มีการรวบรวมข้อมูลมาให้มากที่สุด ไม่มีการหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาไว้หลายๆทาง ไม่มีการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่มีวิธีการที่ดีที่สุด ไม่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนในการนำวิธีการไปใช้ และไม่มีการประเมินผล ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

#image_title
by drsuthichai | Nov 18, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เข็มทิศการทำงาน
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
เคยมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมคนบางคนถึงทำงานได้มากมาย แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงทำงานได้น้อย อีกทั้งมักไม่ค่อยมีคุณภาพอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ท่านสร้างผลงานต่างๆได้อย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นงานประพันธ์หนังสือเป็นจำนวนมาก เช่น หนังสือเรื่องกุศโลบาย , วิธีทำงานและสร้างอนาคต ,มหาบุรุษ,มันสมอง เป็นต้น
สำหรับงานในชีวิตราชการท่านได้รับตำแหน่งต่างๆ มากมาย เช่น ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ,รัฐมนตรีและอธิบดีกรมศิลปากร,รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น ซึ่งบุคคลที่ทำงานได้ดีและมีผลงานเป็นจำนวนมากนั้น จะต้องเป็นคนที่ทำงานหนัก ทำงานเก่ง ทำงานรวดเร็ว สำหรับพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นตัวอย่างในเรื่องของการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยท่านสามารถทำงานหนักได้นานถึงวันละ 16 ชั่วโมง เลยทีเดียว
สำหรับหลักการทำงานให้ได้ผลงานทั้งคุณภาพและปริมาณนั้น มีดังนี้
1.รู้จักลำดับงาน การรู้จักลำดับงานก็คือการวางแผนนั้นเอง คนที่ทำงานได้ดีนั้นจะต้องเป็นคนที่มีแผนงาน ว่าตนจะทำอะไร เมื่อไร อีกทั้งต้องรู้จักลำดับงานออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น งานสำคัญ , งานไม่สำคัญ , งานเร่งด่วน , งานไม่เร่งด่วน แล้วจึงพิจารณาเลือกทำงานให้มีความเหมาะสมกับเงื่อนของเวลา
2.มีวินัยในการทำงาน คนที่ทำงานได้ดีนั้นจะต้องเป็นคนที่มีวินัยในการทำงาน เช่น นักเขียนดังๆ จะต้องมีวินัยในการทำงานเขียน เนื่องจากอาชีพนักเขียนไม่มีเวลาทำงานแน่นอนตายตัว ไม่มีหัวหน้างานคอยมาบังคับ อาชีพนักเขียนจึงเป็นอาชีพอิสระ ดังนั้นจะต้องมีวินัยในการบังคับตัวเองให้เขียน นักเขียนบางคนตั้งกฎกับตัวเองว่าจะต้องเขียนให้ได้วันละ 3 หน้ากระดาษ ทุกวัน ดังนั้น ผลงานของเขาจึงออกมามากมายมหาศาล ถ้าหากว่าเราคิดอย่างง่ายๆ วันละ 3 หน้ากระดาษ 1 เดือนมี 30 วัน เขาจะได้หนังสือ 1 เล่ม ที่มีจำนวนหน้า 90 หน้า และ 1 ปี เขาจะมีงานเขียนถึงจำนวน 12 เล่ม เลยทีเดียว
งานอาชีพอื่นๆก็เช่นกัน บุคคลที่ทำงานดีและเก่งนั้น จะต้องมีวินัยในการทำงาน ทำงานส่งตรงวันเวลาที่เจ้านายหรือลูกค้านัดหมาย
3. มีสมาธิในการทำงาน บุคคลที่ทำงานดี ทำงานเก่ง นั้นจะต้องมีสมาธิในการทำงาน
คำ ว่า “สมาธิ” จากพจนานุกรมไทย ราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ความตั้งมั่นแห่งจิต , ความแน่วแน่ในการสำรวมใจ , การมีจิตเพ่งเล็งแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ,ความตรึกตรองอย่าง เคร่งเครียดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานทุก ประเภท เช่น หากใครมีสมาธิในการอ่านหนังสือก็จะสามารถอ่านหนังสือได้ดีและเร็วกว่าคนไม่ มีสมาธิ , ใครมีสมาธิในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ก็จะสามารถประดิษฐ์ของได้เป็นจำนวนมาก และมีประสิทธิภาพกว่าคนไม่มีสมาธิ ดังเช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน สามารถประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ได้มากมาย ก็เพราะด้วยความที่โทมัส อัลวา เอดิสัน เป็นคนที่มีสมาธินั้นเอง เป็นต้น
4.มีการพักสมองบ้าง การหยุดพักมีความสำคัญไม่ใช่น้อย ร่างกายของคนเราไม่ใช่เครื่องจักรถึงแม้จะเป็นเครื่องจักรก็ตามก็ต้องมีการ หยุดพักเช่นกัน การพักสมอง อาจทำได้โดย
– การเปลี่ยนงานที่ทำ เช่น หากเรามีอาชีพนักเขียน เมื่อทำงานเขียนเป็นเวลานานๆ สมองอาจไม่สดชื่นแจ่มใส ควรเปลี่ยนงานที่ทำโดยการออกไปปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ไปล้างรถ ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ
– การเปลี่ยนที่ทำงาน เช่น ปกติห้องทำงานเขียนมักอยู่ภายในบ้าน ท่านสามารถนำงานเขียนไปเขียนนอกบ้านบ้าง โดยการออกไปเขียนตามห้องสมุด สวนสาธารณะ ฯลฯ
5.จงสนุกกับการทำงาน จงรักในงานที่ท่านทำ หากว่าเราทำงานด้วยความไม่สนุก หากว่าเราไม่รักในงานที่ทำ งานที่ทำมักทำให้เราเกิดความทุกข์ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากเราทำงานด้วยความสนุกงานที่ทำก็จะช่วยให้เราเกิดความ สุขขึ้น จงสนุกกับการทำงานแล้ว ผลงานของท่านจะมีปริมาณมากและคุณภาพของผลก็จะออกมาดีเยี่ยม
ปัจจัยข้าง ต้นนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างผู้ที่ทำงานได้เก่ง ทำงานได้ดี กับ คนที่ทำงานออกมาแล้วไม่มีประสิทธิภาพ หากว่าท่านต้องการทำงานเก่ง ทำงานได้ปริมาณที่มากทั้งคุณภาพและจำนวน ท่านควรปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเอง

#image_title
by drsuthichai | Nov 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เครื่องมือนำทางในการบริหารเวลา คือ เป้าหมาย
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
“ ความพยายาม ความขยัน ความอดทนในการทำงานยังไม่เพียงพอหากปราศจากซึ่งเป้าหมายและการวางแผนเพราะเป้าหมายและการวางแผนเปรียบดังดวงประทีปส่องนำทางในช่วงเวลาค่ำคืน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ”
การตั้งเป้าหมายมีความสำคัญต่อการบริหารเวลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตั้งเป้าหมายทำให้เรามีทิศทางในการทำงาน ทำให้เรามีความตั้งใจทุ่มเทให้กับสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดและลดการใช้เวลากับสิ่งที่มีความสำคัญน้อยที่สุด อีกทั้งลดการใช้พลังงานทั้งทางร่างกาย ทางสมอง ทางจิตใจ ของเราลงไปกับสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ
เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว เราก็ควรที่จะจัดทำการวางแผนขึ้น เพราะการวางแผนเพียง 8 นาที จะช่วยให้เราประหยัดเวลาได้ถึง 1 ชั่วโมง เลยทีเดียว ฉะนั้น หากใครวางแผนมาก เขาก็จะมีเวลาเหลือในการทำสิ่งที่สำคัญๆสำหรับชีวิตมากขึ้น
สำหรับการตั้งเป้าหมายที่ดี เราควรมีการร่างเป้าหมาย ร่างแผนการต่างๆลงในกระดาษ เพราะการร่าง เป้าหมายและแผนการ ลงในกระดาษมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ทำให้เราสามารถตรวจสอบเป้าหมายและแผนของเราได้ตลอดเวลา ทำให้เห็นภาพหรือทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ทำให้เราเกิดสมาธิในการทำงานมากกว่าการนั่งคิดไปเรื่อยๆ ทำให้เราลดภาระการจดจำของเรา การเขียนร่างนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการทำงานและเตือนใจอีกด้วย ถ้าจะให้ดี เราควรมีแฟ้มใส่เป็นสัดส่วนเพื่อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการทำงานครั้งต่อไปได้
หลายคนมักถามผมว่า “ แล้วถ้าผมมีเป้าหมายหลายอย่างละครับ ผมควรที่จะทำอย่างไร” หากว่าคุณมีเป้าหมายหลายอย่าง คุณควรเขียนเป้าหมายทุกอย่างลงในกระดาษ แล้วลองเรียงลำดับเป้าหมายที่มีความสำคัญที่สุดก่อนโดยให้คะแนนจากมากไปน้อย (เป้าหมายไหนมีความสำคัญมากให้คะแนนมาก เป้าหมายไหนมีความสำคัญน้อยให้คะแนนน้อยหรือเรียงจาก ABC ) แล้ววางแผนและให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มีความสำคัญมากที่สุดก่อนตามลำดับ
เป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นเครื่องมือนำทางในการบริหารเวลา ไม่ว่าคุณจะบริหารประเทศ บริหารทีมงาน บริหารองค์กร รวมถึงการบริหารตนเอง หากว่าไม่มีเป้าหมายเสียแล้ว การบริหารก็จะขาดทิศทาง ต่างคนต่างทำงาน จึงทำให้ประสิทธิภาพของตนเอง ขององค์กร ของหน่วยงาน ลดลง
ดังนั้น หากว่าคุณเป็นผู้บริหาร คุณควรตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ขึ้นภายในองค์กร ภายในหน่วยงาน ภายในทีมงาน และควรตั้งเป้าหมายสำหรับตัวของคุณเองด้วย แล้วคุณจะพบว่าคุณเป็นบุคคลหนึ่งที่บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต

#image_title
by drsuthichai | Nov 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
สาเหตุที่ทำให้เราบริหารเวลาไม่ดี
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
หลายท่านได้เรียนรู้ ได้อ่าน ได้ศึกษา เกี่ยวกับเรื่องการบริหารเวลามามาก แต่ก็ไม่สามารถบริหารเวลาได้ดี ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญในการทำให้เราบริหารเวลาได้ไม่ดีพอมีอยู่ 3 สาเหตุ คือ
1.ตัวเราเอง ตัวเราเองมีความสำคัญที่สุดในเรื่องของการบริหารเวลา หลายคนบริหารเวลาไม่ดี เนื่องมาจาก
– การไม่มีเป้าหมาย ไม่มีทิศทางในการดำเนินชีวิต สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก การไม่มีทิศทางเปรียบเสมือนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเล แต่หากเรามีเป้าหมาย มีทิศทาง เปรียบเสมือนเรือที่เคลื่อนตัวเข้าไปหาฝั่ง อีกทั้งการมีเป้าหมายยังสามารถทำให้เรากำหนดระยะเวลา กำหนดความเร็วในช่วงเวลาต่างๆได้อีกด้วย
– การไม่มีแผนการหรือการวางแผน การวางแผนมีความสำคัญมากต่อการบริหารเวลาของคนเรา เพราะหากปราศจากการวางแผนแล้ว เราก็จะไม่รู้ว่า วันพรุ่งนี้เราต้องทำอะไร วันมะรือนี้เราต้องทำอะไร วันมะเรื่องนี้เราต้องทำอะไร อาทิตย์หน้าเราต้องทำอะไร เดือนหน้าเราต้องทำอะไร ปีหน้าเราต้องทำอะไร
– การไม่มีวินัยในตนเองหรือชอบผัดวันประกันพรุ่ง กล่าวคือมีการวางแผนแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เลยทำให้ผลงานออกมาไม่ตรงกับเป้าหมายหรือแผนที่วางไว้ เพราะบางคนทำๆ หยุดๆ ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง และมีหลายๆท่านชอบเก็บงานที่ค้างไว้ทำในวันต่อๆไป ทำให้กลายเป็น “ ดินพอกหางหมู”
– ไม่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เทคโนโลยีทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกทั้งยังทำให้ประหยัดเวลาได้อีกด้วย เช่น การใช้โทรศัพท์ติดต่อธุรกิจ,การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน, การใช้อินเตอร์เน็ตติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลต่างๆ อีกทั้งการประชุมในยุคปัจจุบันเรายังสามารถประชุมข้ามประเทศ ข้ามจังหวัด ได้ก็ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
– ไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ บุคคลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน เพราะไม่มีใครสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ฉะนั้น งานบางงานที่ไม่มีความสำคัญเราอาจให้คนอื่นทำแทนหรือใช้ผู้อื่นไปทำแทนได้
– ไม่กล้าปฏิเสธ หลายๆคนไม่กล้าปฏิเสธ แทนที่จะได้ทำงานของตนเองให้เสร็จทันเวลาหรือตามแผนที่วางไว้ กับถูกผู้อื่นขอร้องให้ทำงานของคนอื่น แทนที่จะใจแข็งรู้จักปฏิเสธกับให้การช่วยเหลือ ทำให้งานของตนเองที่จะทำกลับไม่ได้ทำ
– วางระบบ จัดโต๊ะ ในการทำงาน การวางระบบ การจัดโต๊ะทำงานจะทำให้เราประหยัดเวลาในการค้นหาสิ่งของต่างๆ ยิ่งหากท่านเป็นนักเขียน ท่านควรมีห้องสมุดส่วนตัว อีกทั้งควรจัดหนังสือให้เป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายต่อการค้นหา
2.ผู้อื่น เป็นปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราบริหารเวลาได้ไม่ดี เช่น เจ้านายเรียกประชุมแบบกะทันหัน , เพื่อนหรือคนรู้จัก ชวนพูดคุยเป็นเวลานาน , การประชุมนานเกินกว่ากำหนดการที่วางเอาไว้เพราะมีคนเสนอความคิดเห็นมากจนเกินไป , การถูกขอร้องจากผู้อื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
3.ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เราบริหารเวลาไม่ได้ดี เช่น การเดินทางไปทำงานแล้ว รถติด รถเกิดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ , สภาพอากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ฝนตกหนัก น้ำท่วม ถนนทรุด ฯลฯ
จากข้อความข้างต้น สาเหตุที่ทำให้เราบริหารเวลาไม่ดี ผมให้น้ำหนักไปที่ตัวของเราเองเป็นหลัก เพราะหากเรามีเป้าหมายชีวิต มีการวางแผน มีวินัย มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆช่วย รู้จักลำดับความสำคัญ รู้จักวางระบบการทำงาน และอีกทั้งรู้จักกล้าปฏิเสธในกิจกรรมที่ทำให้เราเสียเวลา เราก็จะสามารถบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้อื่นและปัจจัยอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

#image_title
by drsuthichai | Nov 14, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
การใช้เวลาเพื่อความสำเร็จ
โดย…สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ใช้เวลาเพื่อการทำงานเถิด….มันคือรางวัลแห่งความสำเร็จ….
ใช้เวลาเพื่อการคิดเถิด….มันคือที่มาของพลังอำนาจ…..
ใช้เวลาเพื่อการผ่อนคลายเถิด…มันคือเคล็ดลับแห่งความมีชีวิตชีวา….
ใช้เวลาเพื่อการอ่านเถิด….มันคือรากฐานแห่งสติปัญญา….
ใช้เวลาเพื่อการฝันเถิด….มันคือพาหนะที่นำไปสู่ดวงดาว
ใช้เวลาเพื่อการสังเกต…เรียนรู้…อย่างกว้างขวางเถิด….
วันเวลาสั้นเกินไปที่จะเห็นแก่ตัว….
ใช้เวลาเพื่อการหัวเราะเถิด….มันคือดนตรีแห่งวิญญาณ…(บทสวดของชาวไอริช…)
การใช้เวลาของผู้ที่ประสบความสำเร็จกับคนธรรมดาโดยทั่วไป มักมีความแตกต่าง ซึ่งการใช้เวลาของผู้ที่ประสบความสำเร็จเขาจะมุ่งเน้นในการทำงานหรือการใช้เวลาไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน เป็นอันดับแรก เขาจะมีการวางแผนในการใช้เวลา เช่นเดียวกับศัลยแพทย์ชาวอเมริกาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ ถ้าผมจะต้องผ่าตัดผู้ป่วยโดยใช้เวลา 13 นาที ผมจะใช้เวลาวางแผนการผ่าตัด 3 นาที เหลืออีก 10 นาทีผมจะใช้เวลาในการทำการผ่าตัด”
เราจะเห็นได้ว่าการวางแผนในการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อีกทั้งการควบคุมตนเองก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“เกษตรกรชายคนหนึ่ง ตื่นมาแต่เช้าเพื่อที่จะออกไปขุดดินเพื่อปลูกผัก เขามีความตั้งใจมากว่าจะต้องขุดดิน ขึ้นแปลง เพื่อทำการปลูกผักให้เสร็จภายในวันเดียว สวนผักของเขาอยู่ห่างไกลจากบ้านพักอาศัยที่เขาอาศัยอยู่ เขาจึงขับรถยนต์ ไปเติมน้ำมัน ระหว่างทางเขาขับรถยนต์ผ่านตลาดสด เห็นคนนำลูกไก่มาขาย เขาจึงคิดว่า แวะซื้อลูกไก่สัก 10 ตัว คงไม่ทำให้เสียเวลามาก ดังนั้นเขาก็จอดรถยนต์เพื่อลงไปซื้อลูกไก่ แล้วเขาก็ขับรถต่อไป เห็นร้านขายไม้กวาด เขาคิดว่าจะซื้อไปฝากภรรยา เขาจึงลงไปซื้อไม้กวาดมา 1 อัน แล้วเขาก็ขับรถต่อไป พอถึงปั๊มน้ำมัน เติมน้ำมันเสร็จ เขาเห็นคนนำผักผลไม้มาขาย เขาจึงตัดสินใจซื้อเพื่อนำไปเป็นอาหารมื้อเย็น จนถึงสวนของเขา ภายในสวน เขาเห็นบึงเล็กๆ มีน้ำเหลืออยู่จำนวนไม่มาก แต่ภายในบึงมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เขาคิดว่า เขาจะตักน้ำออกจากบึงแล้วเอาปลาออกจากบึง เพื่อนำไปเป็นอาหารเย็น ”
เราจะเห็นว่าเกษตรกรชายคนนี้ มีเป้าหมายและการวางแผนว่าจะออกไปขุดดิน ขึ้นแปลงเพื่อปลูกผัก แต่เอาเข้าจริงๆ มีกิจกรรมหลายๆอย่างที่ทำให้เขาต้องเสียเวลาไปกับเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้ หลายๆคนอ่านแล้ว คงนึกขำตลกกับเกษตรกรชายคนดังกล่าว แต่หารู้ไม่ พวกเราส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมไม่ได้แตกต่างไปจากเกษตรกรชายคนนี้มากนัก
หลายๆคนมีเป้าหมายแล้ว มักจะเฉไฉ ไม่พยายามเดินตรงไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ หลายๆคนออกนอกเส้นทางไปเลยก็มี เพราะระหว่างทางมักมีสิ่งล่อ สิ่งเร้า เพื่อให้เราเดินออกนอกเส้นทางที่เราวาง การบริหารเวลาที่ดีก็เช่นกัน คนที่จะบริหารเวลาได้ดีจำเป็นอย่างมากจะต้องเป็นคนที่มีวินัย
หลายๆคน มักบ่นว่าทำงานหนัก แต่หากเราลองไปศึกษา วิเคราะห์ การใช้เวลาของเราเอง เราก็จะเห็นว่า เราใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ มากจนเกินไป จนลืมทำงานที่สำคัญที่สุดของเรา จึงทำให้เกิดผลลัพธ์น้อยมาก การทำงานหนักไม่ได้หมายถึงว่าคนๆนั้นจะประสบความสำเร็จ หากว่าการทำงานหนักและทำงานอย่างชาญฉลาดต่างหากที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้
ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำจะเป็นการดีกว่า (โพธิสัตว์)

#image_title