by drsuthichai | Dec 7, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เจอที่ดินของผู้อื่น หรือเจอที่ดินรกร้างว่างเปล่า
แล้วล้อมรั้วเพื่อที่จะเอามาเป็นของตนเองครบ 10 ปี
จะได้กรรมสิทธิ์ โดยครอบครองปรปักษ์หรือไม่
ตอบ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
อ้างอิงตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2542 ที่ดินพิพาท มีลูกจ้างไปทำรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดิน ไม่มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดิน ทั้งสภาพที่ดินพิพาทก็เป็นที่ดินว่างเปล่ามีหญ้าขึ้นรกปกคลุมแนวรั้ว ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจัง แสดงว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จำเลยจะทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2542
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 21 ตารางวา และโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีอาญาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันสร้างรั้วลวดหนามบุกรุกเข้าไปในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่21 ตารางวา เมื่อคดีนี้และคดีอาญาดังกล่าวเป็นมูลกรณีเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และเหตุที่จำเลยยกปัญหาเรื่องให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นได้เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง
แม้คดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ฟังว่า จำเลยได้สร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์เป็นเนื้อที่1 ไร่ 21 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2524 เกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาคงรับฟังเป็นยุติได้แต่เพียงว่า จำเลยได้สร้างรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทจริงเท่านั้น แต่การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาท ก็เพราะจำเลยซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกันและเป็นที่ดินแปลงใหญ่มาเพื่อขยายโรงงาน และที่ดินดังกล่าวมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีก 12 คน ภายหลังต่อมาจำเลยจึงได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ในขณะที่จำเลยให้ลูกจ้างไปทำรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดิน ก็ไม่มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน โดยจำเลยเข้าใจตลอดมาว่าแนวรั้วลวดหนามตรงตามแนวเขตที่ดิน ไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ ทั้งสภาพที่ดินพิพาทก็เป็นที่ดินว่างเปล่ามีหญ้าขึ้นรกปกคลุมแนวรั้ว ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจัง แสดงว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จำเลยจะทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
โจทก์อ้างส่งเอกสารต่อศาลภายหลังสืบพยานจำเลยซึ่งนำสืบก่อนเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่ง ป.วิ.พ.มาตรา 89 วรรคสอง บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่สืบพยานก่อนชอบที่จะคัดค้านไว้ แล้วให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคำพยานเช่นว่ามานั้น แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งข้อนำสืบของโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หรือจำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้ในสำนวน สำหรับคำแถลงคัดค้านของจำเลยก็เป็นการคัดค้านคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตระบุเพิ่มเติม มิใช่เป็นคำแถลงโต้แย้งกรณีตามบทมาตรา 89 วรรคสอง กรณีจึงไม่ต้องห้ามที่จะให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวที่โจทก์นำสืบนั้น

#image_title
by drsuthichai | Dec 5, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ครอบครองปรปักษ์ โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ในทางปฏิบัติ แม้จะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1382 กำหนดแล้ว ก็ไม่ใช่จะได้มาได้โดยง่ายเพราะบุคคลที่อ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้น จะต้องดำเนินการ จ้างทนายความ พร้อมแสดงหลักฐาน ”ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์”
ก่อนศาลจะพิจารณาหรือมีคำสั่ง จะต้องกระบวนการต่างๆ โดยศาลจะมีหมายส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์(โฉนด)ดังกล่าว เพื่อให้มาแสดงตนในการ “คัดค้าน”และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ที่ครองครองกล่าวอ้างการครอบครองปรปักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินพิพาท และนำหลักฐานอื่นๆมาแสดงเช่น พยานบุคคล,ภาพถ่ายที่ดินที่ได้ครอบครอง,แผนที่ที่ดิน ฯลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในศาลด้วย
ในกรณีไม่มีผู้คัดค้านหรือเจ้าของที่ดินมาแสดงตน ศาลอาจจะมีคำสั่งให้บุคคลผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และผู้ครอบครองนั้นจะต้องนำคำสั่งศาลไปติดต่อกรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้

#image_title
by drsuthichai | Dec 5, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ

#image_title
by drsuthichai | Dec 4, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ศิลปะการพูดว่าความในศาล
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(ทนายโทนี่)
www.drsuthichai.com
ผู้ที่เป็นทนายความ มักมีโอกาสได้ใช้คำพูดในการว่าความมากกว่าบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งตัวกระผมเองได้ประกอบอาชีพทนายความก็ได้มีโอกาสได้ใช้คำพูดในการว่าความ
ศิลปะการพูดว่าความในศาล จึงต้องสมควรเรียนรู้ สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพทนายความ หรือแม้แต่บุคคลโดยทั่วไป ก็ควรทำการศึกษาเพราะในชีวิตคนเราสักวันหนึ่งอาจจะต้องได้มีโอกาสเรียกตัวไปเป็นพยาน หรือ เป็นจำเลย เป็นโจทก์ ซึ่งก็ต้องใช้คำพูดในการตอบทนายความ
ทนายความ ที่จะการพูดว่าความในศาลได้ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
1.ต้องเป็นคนช่างถาม ช่างซัก เพราะทนายความจะต้องเป็นผู้ที่ ซักถาม ถามค้าน ถามติงและถามนำ พยานที่เบิกความต่อศาล
2.ต้องเป็นคนช่างเถียง ทนายความ ที่ว่าความเก่ง มักเป็นคนที่ชอบหาเหตุผลมาเถียงเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้าม
3.ต้องมีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เมื่อถูกศาลถาม หรือ เมื่อพยานตอบคำถามที่เป็นอันตรายและไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตนเอง ก็ยิ่งที่จะต้องรีบหาทางแก้ไข
4.ต้องมีความอดทน เพราะการพูดว่าความในศาลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการเรียนรู้ และต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าวิชากฎหมายและวิชาอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ
การถาม ทนายความ ที่เก่งมักจะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี กล่าวคือ เขาจะหัดตั้งคำถามไว้มากๆ อาจจะตั้งคำถามเตรียมไว้ซัก 100 คำถาม แต่อาจจะนำไปใช้จริงๆ สัก 30 คำถาม และเมื่ออยู่ในศาลเขาจะซักถามจนสุดความสามารถ แต่จะถามให้ได้ประโยชน์กับฝ่ายตนเองมากที่สุด คำถามไหนที่ทำให้ฝ่ายของตนเองเสียเปรียบก็จะไม่พยายามซักถาม อีกทั้งต้องมีการเตรียมการบ้านมาเป็นอย่างดี เขาจะเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้า ว่าคำถามนี้จะถามอย่างไร กับใคร
การถาม ทนายความ ควรคำนึงถึงว่า จะถามเรื่องอะไร จะถามอย่างไร จะถามไปทำไม จะถามแล้วได้รับประโยชน์อะไรจากคำถามที่ถาม และควรคำนึงถึงลำดับในการถามว่าจะถามคำถามใดก่อน คำถามใดมาทีหลัง และควรถามความด้วยความมั่นใจ พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ อีกทั้งควรเว้นวรรค หรือ เว้นระยะหยุดเพื่อให้ศาลได้ทำการบันทึกคำตอบของพยาน
เทคนิค ในการถาม อีกประการหนึ่งก็คือ โดยมากมักจะไม่ใช้ คำถามว่า “ ทำไม” เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาดหรือเสียท่าได้ อันเนื่องมาจากพยานได้อธิบายข้อพร่องที่ทำให้ฝ่ายของตนเองเสียเปรียบ แต่ควรจะตั้งคำถามในลักษณะปลายปิด เช่น ใช่หรือไม่ , มีคนอยู่ด้วยหรือไม่มีเลย , ใช่ไหม เป็นต้น
ตัวอย่างคำถาม
ถาม พยานรู้จักกับจำเลยมาประมาณ 20 ปี ใช่ไหม
ตอบ ใช่
ถาม พยานทราบไหมในวันจับกุมใครอยู่ในที่เกิดเหตุ
ตอบ ไม่ทราบ
ถาม วงไพ่ที่เล่นกันในวันที่ถูกจับกุมเป็นไพ่ป๊อกหรือไพ่ไทย
ตอบ ไพ่ไทย
ถาม พยานยืนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตร หรือ 20 เมตร
ตอบ ประมาณ 10 เมตร
ถาม ในวันเกิดเหตุจำเลยมากับเพื่อนผู้หญิงหรือเพื่อนผู้ชาย
ตอล เพื่อนผู้ชาย
การซักถามพยานในศาล โดยมากมักจะมีในศาลชั้นต้น ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฏีกา มักจะไม่มีการซักพยาน ถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ซักถามได้แต่ก็ไม่ค่อยมีการซักถามกัน
สำหรับการซักถาม หม่อมหลวงสุพร อิศรเสนา ได้ให้ความหมาย และได้แบ่งการถามออกเป็น 3 วิธี อีกทั้งได้เขียนไว้ว่าการถามแบบไหนใช้คำถามนำได้หรือไม่ได้(จากตำราว่าความซักถาม ถามค้านหน้าที่ 19-21)
1.การซักถาม(ถามชั้นแรก)
2.การถามค้าน
3.การถามติง
การซักถาม คือ การถามโดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นเพื่อให้เบิกความตามประเด็นที่ผู้อ้างตั้งใจจะนำสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน
ห้ามใช้คำถามนำ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 118 เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล(เหตุผลเพราะเป็นการเอาเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง)
การถามนำ คือ คำถามซึ่งแนะแนวทางหรือชี้แนวทางให้พยานตอบตามที่ผู้ถามต้องการให้ตอบ
การถามค้าน คือ การถามของคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายที่อ้างพยาน
ส่วนคำถามค้าน ใช้คำถามนำได้
การถามติง คือ การที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานถามพยานปากนั้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่พยานนั้นถูกอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านแล้ว
การถามติงนี้ จะใช้คำถามนำไม่ได้
สำหรับการถามนำนี้ กระผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ถามว่า วันที่เกิดเหตุ คือวันที่ 20 มกราคม 2557 ใช่ไหม พยานก็ตอบว่า ใช่ คำถามลักษณะนี้เป็นคำถามที่ชี้นำให้พยานตอบ เพราะพยานไม่ต้องใช้ความจำหรือความคิดอะไร
ทั้งนี้ ศิลปะการพูดว่าความในศาล ยังควรคำนึงถึงมรรยาทในการถาม เช่นควรใช้คำพูดที่มีความสุภาพเรียบร้อย ถามแต่ประเด็นที่สำคัญจะทำให้ศาลเกิดความเชื่อถือทนายผู้ซักถาม ไม่ควรขู่กรรโชกหรือใช้ภาษาที่หยาบคายดุดันกับพยาน
ท่านที่ต้องการศึกษาการพูดว่าความในศาลเพิ่มเติมท่านสามารถอ่านได้จากหนังสือตำราว่าความซักถามถามค้านของหม่อมหลวงสุพร อิศรเสนา , หนังสือวิชาว่าความและมรรยาททนายความของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ,คู่มือการเป็นทนายว่าความ ของอุทัย ศุภนิตย์ และ ซักความ พิสดาร ฉบับศิลปในการซักถามของรชฎ เจริญฉ่ำ

#image_title
by drsuthichai | Dec 4, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ตั้งสติก่อนจะด่าใคร? ความแตกต่างระหว่าง ดูหมิ่นกับหมิ่นประมาท
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่) www.drsuthichai.com
ดูหมิ่น
“มาตรา 393 ” หรือ “มาตรา 393 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘] “
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง
การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่น
ผู้อื่นหรือไม่จึงต้อง พิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็น
การทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการ
ใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
หมิ่นประมาท
มาตรา 326* ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 326 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535]
+++ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่าเป็นการใส่ความ และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
เช่น
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503 จำเลยได้รับคำบอกเล่าจากญาติของโจทก์ว่า โจทก์รักใคร่กับชายใน
ทางชู้สาว นอนกอดจูบและได้เสียกัน ต่อมามีผู้ถามจำเลยถึงเรื่องนี้ จำเลยก็เล่าตามข้อความที่ได้รับบอกเล่ามา
เช่นนี้ถือว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 326
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2537 หัวข้อข่าวที่ว่า แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เจ้าของร้านฟ้อง
ศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน คำว่าเบี้ยวมีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึง ไม่ซื่อตรงหรือโกง หมายถึง
แอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้านบาท และ
หัวข้อข่าวดังกล่าวเป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวเป็นการใส่ความโจทก์โดย
ประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522 จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดิน
อำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า “กระหรี่” หมายความว่าหญิงนครโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้
กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใครประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้างก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่น
ประมาทแล้ว
จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การหมิ่นประมาทไม่ใช่การด่ากัน แต่เป็นการ
ใส่ความผู้อื่น ทั้งเรื่องจริงและไม่จริง

#image_title
by drsuthichai | Dec 4, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
กฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์
โดย..ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
การที่บุคคลจะทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน , การขายบ้าน , การรถยนต์,การทำสัญญากู้ยืมเงิน และแม้กระทั่งการแต่งงาน ฯลฯ ได้นั้น บุคคลคนนั้นจะต้องมีอายุเกิน 20 ปี หรือตามกฎหมายมักเรียกว่า บรรลุนิติภาวะ (คนที่อายุไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ ตามกฎหมายมักเรียกว่า เป็นผู้เยาว์ครับ)
แต่อาจมีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ อันได้แก่ นิติกรรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์โดยไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้เยาว์ เช่น การรับทรัพย์สินหรือการรับโอนที่ดินโดยเสน่หา และผู้ให้ไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
สำหรับบุคคลใดต้องการจะโอนที่ดินให้ผู้เยาว์ หรือ มอบมรดกให้ผู้เยาว์ต้องระวังนะครับ เพราะเมื่อโอนให้ผู้เยาว์แล้ว ไม่สามารถให้ผู้เยาว์โอนคืนหรือให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ หรือแม้แต่ผู้เยาว์เสียชีวิตลง ผู้ที่โอนที่ดินให้ผู้เยาว์ก็ไม่สามารถโอนกลับไปให้เจ้าของเดิมได้ แต่ต้องว่ากันด้วยกฎหมายที่ว่าด้วยมรดก คือ มรดกที่ดินดังกล่าวจะต้องตกกับทายาทของผู้เยาว์ที่ตายไปนั้นเอง
แต่ในบางกรณี เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้เยาว์ ก็สามารถทำนิติกรรมหรือบรรลุนิติภาวะได้ เช่น เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี แต่งงานและพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การยินยอมให้แต่งงาน เมื่อเด็กและเยาวชนคนนั้นแต่งงานเสร็จ ก็ถือว่า บรรลุนิติภาวะหรือสามารถทำนิติกรรมทุกอย่างได้ครับ
แต่ต้องเป็นการสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ถึงจะพ้นสภาพการเป็นผู้เยาว์ได้
สำหรับการกระทำความผิดต่อเด็กหรือผู้เยาว์ มีหลักการ ลงโทษ…โดยกฎหมายจะดูอายุของเด็กเป็นสำคัญ..หากผู้เยาว์หรือเด็กอายุยิ่งน้อย…ความผิดในการลงโทษยิ่งมาก…เช่น การพรากผู้เยาว์ เยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี ( ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 20,000 บาท” ) , การพรากผู้เยาว์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 บัญญัติว่า “ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 บาท ถึง 30,000 บาท” ) ถามว่า โทษคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทำไมอายุยิ่งน้อย โทษจึงยิ่งมาก เพราะตามหลักของกฎหมาย กฎหมายมักคุ้มครองเด็ก เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่เอาเปรียบ รังแก ทำทารุณ ได้ครับ
และจากข้อความข้างต้น ทำไมผมถึงเขียนเด็กบ้าง เยาวชนบ้าง เพราะความหมายของคำว่า
ของคำว่า “ เด็กและเยาวชน ” มีความแตกต่างกันและอีกทั้งมีการนิยามจากหลายหน่วยงาน เช่น
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ.2550 (มาตรา 4)
กำหนดความหมายคำว่า
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 บริบูรณ์
“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ – 25 ปีบริบูรณ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” ไว้หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส
ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายสากลของคำว่า “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี
ในปัจจุบัน เรามีศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งถือว่าดีมาก เพราะคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนถือว่า เป็นคดีที่มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ อีกทั้งศาลเด็กและเยาวชนยังมีความแตกต่างตรงที่มีผู้พิพากษาสมทบอีกด้วย สำหรับผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบ คือ ผู้แทนของประชาชนในการตัดสินเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในรูปแบบของการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู สงเคราะห์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กและเยาวชนที่หลงผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม
สำหรับบทความฉบับนี้ กระผมขอจบด้วยปรัชญาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งแต่งโดยท่านสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ศ.2546-2547 มีความว่า
มุ่งแก้ไขให้โอกาสผู้พลาดผิด มุ่งลิขิตเปลี่ยนชีวิตผู้ผิดหลง
มุ่งคุ้มครองสิทธิเด็กเจตจำนง มุ่งธำรงความยุติธรรมค้ำแผ่นดิน

#image_title

#image_title