by drsuthichai | Dec 4, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
หมิ่นประมาททั่วไป
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 ระบุว่า “ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 เราสามารถแยกองค์ประกอบของความผิดได้ดังนี้
1.ใส่ความ
2.ผู้อื่น
3.ต่อบุคคลที่สาม
4.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น( เสียชื่อเสียง,ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง)
5.โดยเจตนา
ซึ่งจะขออธิบายในรายละเอียดแยกเป็นข้อๆ ดังนี้
1.ใส่ความ จากพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดย นายมานิต มานิตเจริญ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ ใส่ความ ” หมายถึง “ กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย” ซึ่งอาจจะกระทำโดยทางคำพูด ทางการเขียน หรือ ทางการโฆษณา ก็ได้ (ทั้งนี้ อาจไม่ต้องได้รับโทษ ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตามมาตรา 330)
หมายเหตุ: มาตรา 330 “ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน )
2.ผู้อื่น คำว่าผู้อื่นในที่นี้คือ ผู้ที่เสียหายหรือผู้ที่ถูกใส่ความ จะเป็นบุคคล องค์กร หน่วยงาน นิติบุคคล กลุ่มคน ก็ได้
3.ต่อบุคคลที่สาม ถ้าเป็นการด่ากันตรงๆ ทำให้เสียหาย กันเพียง 2 คน จะไม่เข้าความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะจะไปเข้าความผิดฐานดูหมิ่น ฉะนั้น ถ้าจะเข้าความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องกระทำผิดต่อหน้าบุคคลที่สาม อีกทั้งบุคคลที่สาม ต้องเข้าใจข้อความที่ใส่ความด้วย แต่ถ้าเป็นคนต่างประเทศที่ไม่รู้ภาษาไทย เด็กเล็กๆที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง คนหูหนวก ก็ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่สาม
4.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น( เสียชื่อเสียง,ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง)
องค์ประกอบข้อนี้
เสียชื่อเสียง หมายถึง ทำให้สูญเสีย ความน่าเชื่อถือ เสียคุณค่า ทำให้ขายหน้า ต่อบุคคลหรือประชาชนในสังคมที่อาศัยอยู่
ถูกดูหมิ่น หมายถึง ถูกเหยียดหยาม ถูกสบประมาท ถูกดูแคลน ถูกทำให้เห็นว่าเป็นคนเลว
ถูกเกลียดชัง หมายถึง ทำให้ผู้อื่นไม่ชอบจนขนาดไม่อยากพบเห็น
5.โดยเจตนา
ผู้กระทำผิดต้องทำ “ โดยเจตนา” กล่าวคือ ต้องทำด้วยความตั้งใจ ความจงใจ หรือมีความมุ่งหมาย เพื่อให้คนอื่น เสียงชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หากว่า ได้ทำไปโดยขาดเจตนาแล้ว ถือว่าไม่เป็นความผิด
ทั้งนี้ หากว่าต้องการทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ขอให้ผู้อ่านลองเข้าไปดูแนวฏีกา ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาททั่วไป ก็จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

#image_title
by drsuthichai | Dec 4, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
เขียนอย่างไรไม่ให้ละเมิด
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
ในอดีตใครที่เป็นนักเขียน เวลาจะลงผลงานให้คนอ่านนั้นยากมาก เพราะมีข้อจำกัดอย่างมากมาย เช่น เขียนเสร็จส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา หากไม่ได้รับการพิจารณาก็ไม่รู้จะเอาผลงานเขียนไปเผยแพร่ที่ไหน ถ้าหากจะลงทุนพิมพ์เองก็มีต้นทุนที่แพงมากเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน
แต่ในยุคปัจจุบัน นักเขียนทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น นักเขียนสามารถหาข้อมูลได้อย่างง่ายดายโดยผ่านอินเตอร์เน็ต นักเขียนสามารถพิมพ์ได้สะดวกขึ้น พิมพ์ผิดก็แก้ไขได้อย่างง่ายดายโดยใช้เครื่องมือคือคอมพิวเตอร์ที่มาทดแทนการใช้พิมพ์ดีด และนักเขียนสามารถเผยแพร่งานเขียนได้อย่างง่ายดายโดยเฉพาะผ่านช่องทาง ทางอินเตอร์เน็ต เช่น ทาง Facebook , Blog , เว็บไซต์ ฯลฯ
ดังเราจะเห็นได้จากยุคแรกๆ เว็ปไซต์พันทิพย์(pantip) ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้ไปเขียนกัน ในขณะเดี๋ยวกันก็มีคนอ่าน ต่อมาได้มี Blog ซึ่ง Blog นี้ มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สำหรับนักเขียน เพราะBlog แต่ละ Blog เป็นของตนเอง สิ่งเหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้คนได้มีการฝึกฝนการเขียน ซึ่งทำให้เกิดนักเขียนขึ้นมาอย่างมากมาย เมื่อเราเข้าไปในร้านขายหนังสือเราก็จะพบเห็นผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ๆ หรือออกหนังสือเล่มแรก เป็นต้น
สิ่งที่ตามมาก็คือ นักเขียนสร้างผลงานขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ก่อให้เกิดชื่อเสียง รายได้ ตามมา แต่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือผิดกฎหมายก็คือ นักเขียนบางคนที่ขาดจริยธรรม ขาดคุณธรรม ขาดจิตสำนึกก็จะไปละเมิดงานเขียนของผู้อื่น ก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้นมา
ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดในการเขียนในได้แก่ การหมิ่นประมาท , การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล, Hate Speech (วาจาที่สร้างความเกลียดชัง),การเขียนสื่อลามกเด็ก ,ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
การหมิ่นประมาท คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คือ บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิส่วนบุคคลตามกฏหมาย
เช่นการได้รับการคุ้มครองจากการเขียนข้อมูลประเภทดูถูก/ดูหมิ่นทำให้บุคคลนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียงผ่านสื่อบนอินเทอร์เน็ต หรือโดยการเผยแพร่/ ปลอมแปลงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
Hate Speech (วาจาที่สร้างความเกลียดชัง) ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับสังคมที่มีการแตกแยก ดังประเทศไทยเราที่มีการแบ่งสีเสื้อต่างๆ หรือมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งมักจะประดิษฐ์ถ้อยคำหรือวาทกรรมที่มีความดุเดือด รุนแรง เพื่อออกมาโจมตีกัน ทางด้านคำพูดและทางด้านการเขียน เช่นคำว่า “ไพร่”, “สลิ่ม”, “วิปริตทางเพศ” ฯลฯ
การเขียนสื่อลามกเด็ก คือ การเขียนหรือใช้เอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสื่อหรือแสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็ก ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี (กำหนดอายุไม่เกิน 18 ปี เนื่องจากประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ)
ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ผลงานที่ประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ รวมถึงการเขียน โดยเน้นการผลิตด้วยสติปัญญา ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธ์ ซึ่งกฏหมายลิขสิทธิ์ (Copyright)
จะเกี่ยวข้องกับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดังนี้ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เป็นต้น
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในยุคของสังคมอินเตอร์เน็ต เราสามารถทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้อย่างง่ายดายโดยบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนเองทำผิดกฏหมายลิขสิทธิ์ เช่น บางคนตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อแชร์ข้อมูลต่างๆ โดยการสแกนหนังสือขาย บางคนซื้อหนังสือ E-book มาได้แล้ว ก็เสนอขาย E-book ต่อซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นมาอย่างมากมาย จึงทำให้นักเขียนและนักลงทุน(สำนักพิมพ์)เสียหาย แล้วจึงเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นมา

#image_title
by drsuthichai | Dec 3, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 “ ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือ เพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ตามมาตรานี้ เราจะเห็นได้ว่า อัตราโทษจะมากกว่าการดูหมิ่นทั่วไป(มาตรา 393)
องค์ประกอบความผิด มาตรา 136 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
- ดูหมิ่น
- เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
- โดยเจตนา
ฏีกาที่ 2246/2515 “ พนักงานที่ดินหมาๆ ชอบกินแต่เบี้ย” (ชอบกินสินบน) เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ตามเลขที่ฎีกา 2246/2515 มีผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน พนักงาน
สอบสวนจึงมีหนังสือถึงนายอำเภอ ขอให้สั่งพนักงานที่ดินไปร่วมตรวจพิสูจน์ นายอำเภอสั่งให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเสมียนที่ดินอำเภอไปทำการรังวัดสอบเขต การที่ผู้เสียหายไปทำการรังวัดที่ดินตามคำสั่งของนายอำเภอย่อมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ เมื่อจำเลยกล่าวดูหมิ่นผู้เสียหายด้วยถ้อย
คำว่า “พนักงานที่ดินหมา ๆ ชอบกินแต่เบี้ย (ชอบกินสินบน)” จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 136
ฏีกาที่ 316/2517 “อ้ายจ่า ถ้ามึงจับกู กูจะเอามึงออก” เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
เรื่องย่อๆ ถ้อยคำว่า ‘อ้ายจ่า ถ้ามึงจับกู กูจะเอามึงออก’ ซึ่งจำเลยกล่าวต่อจ่าสิบตำรวจในขณะที่จะเข้าจับกุมจำเลยในข้อหาฐานบุกรุกอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายเป็นถ้อยคำที่กล่าวสบประมาท เหยียดหยาม และข่มขู่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นมิให้จับกุมจำเลยอันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่แล้ว และมิใช่เป็นเพียงการประท้วงการกระทำของเจ้าพนักงาน
ฏีกาที่ 860/2521 “ คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไรไม่รับผิดชอบ” เป็นแค่คำไม่สุภาพ ไม่ถึงเป็นดูหมิ่นตามมาตรา 136
คำพิพากษาฎีกาที่ 860/2521 (สบฎ เน 5617) จำเลยกล่าวว่า “คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไร ไม่รับผิดชอบ” ไม่ได้กล่าวโดยเมาสุรา หรือทุบโต๊ะชวนวิวาท เป็นแต่คำไม่สุภาพ ไม่ถึงดูหมิ่นตาม มาตรา 136
เรื่องย่อๆ มีอยู่ว่า : จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดผู้หนึ่งได้ไปสอบถามผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอ ถึงเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทางการปิดประกาศไว้ ผู้เสียหายให้ไปสอบถาม ป. ปลัดอำเภอซึ่งผู้เสียหายมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่เรื่องนี้ แต่จำเลยจะขอสอบถามผู้เสียหายเท่านั้น ผู้เสียหายก็ยืนกรานให้ไปถาม ป. จำเลยจึงพูดว่า “คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไรไม่รับผิดชอบ” ดังนี้เป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (ประชุมใหญ่ครั้งที่9/2521)

#image_title
by drsuthichai | Dec 3, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ความผิดฐาน หมิ่นประมาท
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
หากพูดถึง เรื่องความผิดฐาน หมิ่นประมาท แล้ว อาชีพที่ดูเหมือนจะต้องมีส่วนเกี่ยวพันกับกฏหมายหมิ่นประมาท ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ใช้ ปาก หรือ ปากกา หรือ อาชีพที่ใช้คำพูดและการเขียน เช่น นักการมือง , นักหนังสือพิมพ์ , สื่อมวลชน , บุคคลที่มีชื่อเสียง ฯลฯ
สำหรับการดำเนินคดี ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีได้ 2 วิธี คือ
1.ผู้เสียหายสามารถ แจ้งความ “ร้องทุกข์” ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน แล้ว เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน ก็จะส่งเรื่องไปที่พนักงานอัยการ แล้วพนักงานอัยการ ก็จะเป็น “ โจทก์” ฟ้องคดีต่อศาลให้แก่ท่าน ซึ่งการดำเนินคดีวิธีนี้ อาจมีความล่าช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวน และ พนักงานอัยการ อาจมีงานมาก อีกทั้ง บางคดี เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นไม่ตรงกันหรือแตกต่างกัน เช่น หลักฐานยังมีไม่มากพอ , การพูดหรือการเขียนยังขาดเจตนา , การตีความต่างกันว่าผู้ต้องหาผิดหรือไม่ผิด ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีให้แก่ท่านได้ หรือ ท่านต้องการให้ฟ้องร้องหลายคดี หลายมาตรา แต่พนักงานอัยการ พิจารณาฟ้องเฉพาะบางข้อหา บางคดี หรือบางกระทง ไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาล ตามที่ท่านต้องการให้ฟ้องได้
2.ผู้เสียหายสามารถว่าจ้างทนายความฟ้องคดีต่อศาลเองได้ สำหรับผู้ที่มีเงิน มีฐานะ มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะเลือกวิธีนี้ เพราะผู้เสียหาย สามารถให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลได้ทุกข้อหา ทุกมาตรา ทุกกระทง ทนายความอาจยื่นฟ้องต่อศาลพร้อมๆกัน หลายคดี หลายท้องที่ หลายศาล ที่เกิดความผิดฐาน หมิ่นประมาท
โดยปกติคดีหมิ่นประมาท เป็นคดีที่ไม่ใหญ่โตมาก ไม่เหมือนคดีอาญาประเภท ยาเสพติดให้โทษ ฆ่ากันตาย แต่เป็นคดีที่ผู้เสียหายต้องการที่จะ “รักษาชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา” ของตนเอง โดยเฉพาะ นักการเมือง ดารา สื่อมวลชน
ฉะนั้น ก่อนจะที่พูดหรือเขียนอะไรลงไป พึงมีสติ ว่าคำพูดนั้น จะก่อความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือไม่ และมีอีกหลายกรณี ที่ผู้พูดหรือผู้เขียน มีสติ จงใจ พูดหรือเขียน เนื่องจากความโกรธเคืองกัน การอาฆาตพยาบาท ซึ่งในการพุทธศาสนา สอนไว้ว่าควรให้ อภัยด้วยการแผ่เมตตา เพื่อลดโทสะ ไม่ให้พยาบาทต่อกัน
ซึ่งกฏหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับการหมิ่นประมาทมีดังนี้
1.หมิ่นประมาททั่วไป(ม.326)
2.ดูหมิ่น(ม.393)
3.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ม.112,ม.133,ม.134)
4.ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน(ม.136)
5.ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา(ม.198)
6.ละเมิคอำนาจศาล(ป.วิแพ่ง ม.30-33)
7.หมิ่นประมาทผู้ตาย(ม.327)
8.หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา(ม.328)
9.ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท(ม.329,ม.330)
10.ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดในการดำเนินคดีในศาล(ม.331)
11.เอกสิทธิ์เด็ดขาดและไม่เด็ดขาด(รัฐธรรมนูญ มาตรา 130,มาตรา 135)
ดังนั้น บุคคลที่ใช้ ปากหรือปากกา บุคคลที่ใช้ คำพูดหรือข้อเขียน ในการประกอบอาชีพ ควรที่จะศึกษากฏหมายหมิ่นประมาท โดยเฉพาะ อาชีพนักการเมืองซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ปากหรือคำพูด เพื่อใช้ในการปราศัย หาเสียงเลือกตั้ง หากเราลองสังเกตดู จากเวทีหาเสียงหรือเวทีการพูดทางการเมือง บางคนด่าคนอื่นจนสาดเสียเทเสีย ผู้ฟังสะใจ แต่ไม่เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาท แต่บางคน พูดธรรมดาๆ แต่กลับโดนข้อหาหมิ่นประมาท
เช่นกัน นักหนังสือพิมพ์ บางคน เขียนข้อความด่าผู้อื่น แต่ไม่เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาท แต่นักหนังสือพิมพ์อีกคน ให้ข้อมูลพื้นๆ ทั่วๆไป แต่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท
ฉะนั้น นักการเมือง จึงต้องมีศิลปะในการพูด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าคุก นักหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน ควรมีศิลปะในการเขียน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าตะราง และที่สำคัญควรที่จะศึกษา กฏหมาย ความผิดฐาน หมิ่นประมาท เอาไว้ด้วย

#image_title
by drsuthichai | Dec 3, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ดูหมิ่น
โดย…ทนาย สุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
ตามประมวลกฏหมายอาญาบัญญัติไว้ใน มาตรา 393 “ ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งองค์ประกอบความผิดของมาตรา 393 มีดังนี้
1.ดูหมิ่น
2.ผู้อื่น
3.ซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา
4.โดยเจตนา
จากองค์ประกอบข้างต้นกระผมขออธิบายเพิ่มเติม
1.ดูหมิ่น จากพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดย นายมานิต มานิตเจริญ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ ดูหมิ่น” คือ เหยียดหยาม , ดูถูก,เหยียบย่ำ,ดูหมิ่นดูแคลน,ดูหมิ่นถิ่นแคลน
เช่นฏีกาที่ 1623/2551 คำว่า ทนายเฮงซวย ตามพจนานุกรม คำว่า “ เฮงซวย” หมายถึง เอาแน่นอนไม่ได้ , เลว , ไม่ดี ฉะนั้น คำว่า “ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำคำด่าที่ทำให้โจกท์เกิดความเสียหาย เป็นการทำให้ถูกเหยียดหยาม จึงมีความผิดตาม ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 393
2.ผู้อื่น คือ ผู้เสียหายหรือบุคคลซึ่งถูกดูหมิ่น โดยมากมักจะเป็นบุคคลธรรมดา
3.ซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา
ซึ่งหน้า หมายถึง ทำต่อหน้า ไม่ทำลับหลัง กับผู้ที่ถูกดูหมิ่น
ด้วยการโฆษณา หมายถึง กระทำอย่างเผยแพร่เพื่อให้คนอื่นรู้ เช่น ลงสื่อต่างๆ (หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต)
4.โดยเจตนา คือ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนา ต้องตั้งใจ จงใจ ที่ดูหมิ่น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการตีความที่มากขึ้น ขอให้ท่านลองเข้าไปดู ฏีกาต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าการตีความจะเข้าความผิดฐานดูหมิ่นหรือไม่ เช่น ฏีกาที่ 5772/2542 , ฏีกาที่ 3800/2527 , ฏีกาที่ 2220/2518,ฏีกาที่ 2089/2511 , ฏีกาที่ 3176/2516 , ฏีกาที่ 259/2514 เป็นต้น)

#image_title
by drsuthichai | Dec 3, 2024 | การศึกษา, ทั่วไป อื่นๆ
ค้ำประกัน
โดย…ทนายสุทธิชัย ปัญญโรจน์(อาจารย์โทนี่)
www.drsuthichai.com
อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน หรือเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ
ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินสำนวนไทยโบราณ สองประโยคข้างต้นดังกล่าว และต้องยอมรับว่าสองประโยคข้างต้นมีความเป็นจริงอยู่มาก ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของการค้ำประกันกัน มีคนเคยถามกระผมว่า ค้ำประกันคืออะไร การค้ำประกันคือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอก เรียกว่า “ ผู้ค้ำประกัน ” ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้
ฉนั้นการค้ำประกันตนเองเพื่อชำระหนี้ของตนเองไม่สามารถทำได้ ต้องให้บุคคลภายนอกค้ำประกัน เพราะ ลูกหนี้ย่อมค้ำประกันตนเองอยู่แล้ว คำว่าบุคคลภายนอกในที่นี้รวมไปถึง นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท สมาคม มูลนิธิ (ซึ่งต้องดูวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนด้วยว่า มีอำนาจในการทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่) ส่วนบุคคลธรรมดาที่สามารถค้ำประกันได้จะเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
ฉะนั้นเราจะเห็นนักกฏหมายส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมค้ำประกันให้ใครง่ายๆ ถ้าหากจะให้ค้ำประกันใครขอค้ำประกันเป็นเงินสดยังจะดีกว่า เพราะหากท่านได้ทำสัญญาค้ำประกันให้กับใคร ท่านจะบอกเลิกไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้เขาไว้ใจคนค้ำประกัน เขาถึงยอมให้เงินแก่ลูกหนี้ กฏหมายจึงไม่ยอมให้คนค้ำประกันบอกเลิกสัญญา หากกฏหมายยอมให้บอกเลิกสัญญาได้ความเสียหายก็จะตกแก่เจ้าหนี้นั้นเอง
ฏีกา 980/2513 หากเจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกัน โดยไม่เรียกร้องจากลูกหนี้ก่อน ถือว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องจากจำเลยผู้ค้ำประกันได้
ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงถือว่าเป็นลูกหนี้ลำดับสองหรือชั้นสอง ถ้าหากเจ้าหนี้เรียกผู้ค้ำประกันชำระหนี้โดยไม่ได้ไปบังคับเอาหนี้กับลูกหนี้ลำดับหนึ่งหรือชั้นหนึ่งก่อน ผู้ค้ำประกันสามารถที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับกับลูกหนี้ก่อน แต่เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบ ผู้ค้ำประกันจึงจะต้องชำระหนี้แทน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องดูรายละเอียดของสัญญาค้ำประกันด้วย ถ้าหากในสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแทนลูกหนี้ในทันทีที่ได้รับการทวงถามโดยมิพักต้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน คนใดคนหนึ่งชำระจนสิ้นเชิงสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ตามฏีกา3553/2533
สำหรับการระงับของสัญญาค้ำประกันสามารถระงับได้โดย เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ เมื่อผู้ค้ำประกันบอกเลิกการค้ำประกัน ทั้งนี้ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน เมื่อระยะเวลาในการค้ำประกันสิ้นสุดลง และเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
ถามว่าแล้วอย่างนี้ การเป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิจะหลุดหรือไม่เวลาถูกฟ้องร้อง บางคดีหลุดครับ แต่มีน้อยมาก หลุดเพราะ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 “ การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวในอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์ไปยังเจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ ”
กิจการต่อเนื่องหลายคราวที่ผู้ค้ำประกันสามารถบอกเลิกได้ เช่น สัญญาการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้าง ที่ไม่มีกำหนดเวลา , สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี(OD) ที่กำหนดให้ลูกค้าเบิกเงินเป็นคราวๆ (ฏีกา 500/2507,1945/2537)
ดังนั้นหากท่านถูกฟ้องดำเนินคดีในฐานค้ำประกัน ท่านลองไปศึกษา มาตรา 699 ดูครับ อาจเป็นทางออกของท่านได้อีกทางหนึ่ง “ สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ” ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ก็อาจพลาดและพลั้งได้เช่นกันครับ

#image_title